ชงตั้งค่าจ้างเขตศก.พิเศษ ถูกกว่าพื้นที่อื่น หวังจูงใจลงทุน-ธนารักษ์ชี้สเปกบ้าน5แสน

ชงตั้งค่าจ้างเขตศก.พิเศษ ถูกกว่าพื้นที่อื่น หวังจูงใจลงทุน-ธนารักษ์ชี้สเปกบ้าน5แสน

ชงตั้งค่าจ้างเขตศก.พิเศษ ถูกกว่าพื้นที่อื่น หวังจูงใจลงทุน-ธนารักษ์ชี้สเปกบ้าน5แสน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายจ้างแนะค่าจ้างเขตศก.พิเศษ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า จากกรณีสภาองค์กรนายจ้างฯเตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์แรงงานชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2559-2563) ให้แก่กระทรวงแรงงานในสัปดาห์หน้านั้น ในส่วนของรายละเอียดข้อเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดทำระบบค่าจ้างและสวัสดิการแยกออกจากกฎหมายแรงงานปกติ ก็เพื่อสร้างความแตกต่างในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการของเขตเศรษฐกิจพิเศษให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ภายในประเทศ

เขตเศรษฐกิจพิเศษควรออกแบบระบบค่าจ้างและสวัสดิการขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ โดยไม่ขึ้นตรงกับกฎหมายแรงงานทั่วไป ไม่กำหนดใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ควรใช้ค่าจ้างแบบลอยตัว และไม่ใช้ระบบสวัสดิการในระบบประกันสังคมเหมือนพื้นที่อื่น เพื่อให้ระบบค่าจ้างและสวัสดิการของเขตเศรษฐกิจพิเศษถูกกว่าพื้นที่อื่น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงกว่าบริเวณพื้นที่อื่น และยิ่งค่าแรงแพงเท่าที่อื่นก็ไม่น่าจะจูงใจนักลงทุนได้

"รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดการแรงงานบริเวณชายแดนให้มีค่าจ้างถูกกว่าเขตอื่นมีสวัสดิการแยกออกจากระบบประกันสังคม และจัดการด้านแรงงานต่างด้าวแตกต่างจากบริเวณอื่นของประเทศ เพื่อให้สะดวกสบายในการเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับได้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สัญญาและจำกัดจำนวนแรงงาน แต่อาจควบคุมบริเวณโรงงานแทน อาจนำรูปแบบโมเดลของเขตอุตสาหกรรมในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมาประยุกต์ใช้ ออกแบบกฎหมายแรงงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการขึ้นมาโดยเฉพาะ" นายธนิตกล่าว

ธนารักษ์สเปกบ้านไม่เกิน5แสน

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า กรมธนารักษ์จะสรุปพื้นที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นโครงการของผู้มีรายได้น้อย เมื่อได้พื้นที่และรูปแบบโครงการชัดเจนแล้ว จะสำรวจความต้องการของผู้ต้องการเช่าว่ามีมากน้อยเพียงใด

เรื่องค่าเช่าที่ดินราชพัสดุนั้นไม่เป็นปัญหาหากต้นทุนค่าก่อสร้างสูง กรมก็จะลดค่าเช่าลงมาเพื่อให้ต้นทุนรวมของแต่ละหน่วยไม่เกิน 5 แสนบาท กรมได้ศึกษารูปแบบของโครงการในต่างประเทศ ออกแบบให้ลดความแออัดและน่าอยู่อาศัย เช่น การแบ่งตัวอาคารออกเป็นปีกซ้าย ปีกขวา การกำหนดให้แต่ละชั้นของคอนโดฯมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับต้อนรับแขกมาเยี่ยม เป็นครัวทำอาหารหรือกิจการส่วนกลาง เพื่อให้ภายในห้องแต่ละห้องเป็นที่พักผ่อนของเจ้าของ

การออกแบบอย่างนี้อาจทำให้แต่ละชั้นที่เคยมี 20 ห้อง อาจเหลือเพียง 17 ห้อง เป็นต้น แต่รูปแบบของการอยู่อาศัยจำเป็นต้องศึกษาถึงพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนไทยว่าจะรับได้หรือไม่ สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนไทยหรือไม่

"การพัฒนาโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องคิดให้ครบ โดยเฉพาะในแง่การเดินทาง เป็นต้นทุนของผู้อยู่อาศัย รถขนส่งสาธารณะต้องเชื่อมต่อกับโครงการได้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง นอกจากบริษัทเอกชนสนใจจะทำธุรกิจเชิงสังคมดังกล่าว การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจในสังกัดกรมธนารักษ์ สามารถเข้าร่วมพัฒนาโครงการประเภทนี้ได้ด้วย" นายจักรกฤศฎิ์กล่าว และว่า

โครงการบ้านคนจนเป็นแนวคิดของรัฐบาล ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้กับคนจน โดยดึงบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนเข้าร่วมพัฒนาในเชิงธุรกิจเพื่อสังคม (โซเชียลเอ็นเตอร์ไพร์ส) เอกชนอาจนำงบเคยจ่ายเป็นงบซีเอสอาร์มาร่วมลงทุนในโครงการนี้ เพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้คนจนในรูปแบบของสิทธิในการเช่า (Lease hold) ระยะยาว 30 ปี ราคาไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นระดับที่คนจนที่มีรายได้ระดับหนึ่งหมื่นบาทต้นๆ ผ่อนชำระได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook