สงคราม′โบรกเกอร์′ หั่นค่าคอมฯ เขย่าตลาดหุ้นไทย

สงคราม′โบรกเกอร์′ หั่นค่าคอมฯ เขย่าตลาดหุ้นไทย

สงคราม′โบรกเกอร์′ หั่นค่าคอมฯ เขย่าตลาดหุ้นไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เมืองไทย เมื่อเกิดกรณีโบรกเกอร์รายใหม่เปิดปฏิบัติการหั่นราคาค่าธรรมเนียมดึงดูดลูกค้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในแวดวงตลาดหุ้นที่มีมูลค่ามหาศาลในเมืองไทย

เรื่องค่าคอมมิชั่นหรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์กลับมาเป็นหัวข้อร้อนแรงอีกครั้ง หลังมีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรก) เมื่อโบรกเกอร์น้องใหม่ 2 ราย เพิ่งเริ่มกิจการเมื่อเดือนพฤษภาคม อย่างบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเอสแอล จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด (สไบโตะ) เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2558 ประกาศกร้าวว่าจะใช้กลยุทธ์ด้านลดราคาค่าคอมมิชชั่นมาขอวัดฝีมือ

ขอส่วนแบ่งการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ และเพิ่มจำนวนบัญชีในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์

ทั้งสองบริษัทเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ดูมีอนาคตสดใส เพราะทุกวันนี้นักลงทุนบุคคลในประเทศหรือรายย่อยกว่า 66% ซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ต

จุดแตกแหก คงเป็นเพราะบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ โบรกหน้าใหม่สัญชาติญี่ปุ่น มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) จัดโปรโมชั่นถล่มราคาค่าคอมฯ 90% ทุกบัญชีการซื้อขาย หากซื้อขายในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดค่าคอมฯเพียง 0.02% ในบัญชีเงินสด (Cash Account) และ 0.015% สำหรับบัญชีวางเงินสดล่วงหน้า (Cash Balance)

เทียบให้เห็นคือ หากซื้อหุ้นวงเงิน 1 ล้านบาท จะเสียค่าคอมฯเพียง 150 บาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่หากซื้อหุ้นผ่านอินเตอร์เน็ตจะต้องเสียค่าคอมฯประมาณ 0.136% หรือซื้อหุ้น 1 ล้านบาท ต้องเสียค่าคอมฯ 1,360 บาท ไม่รู้เพราะเหตุนี้หรือไม่ ทำให้ในวันที่ 16 ตุลาคม ที่เป็นวันแรกของการให้บริการ บริษัทเจอกลุ่มคนเข้ามาระดมกดเอฟ 5 หวังให้ระบบซื้อขายล่ม แต่ไม่เป็นผล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นลดราคาคือโบรกรายเก่าเจ้าอื่น ที่หากซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง) จะคิดค่าคอมฯประมาณ 0.25% แต่ถ้าเทรดผ่านอินเตอร์เน็ตจะคิด 0.15% เกิดเป็นคำถามว่าเมื่อลดราคากันอย่างนี้แล้ว โบรกเก่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ อุตสาหกรรมโบรกเกอร์จะเป็นอย่างไร และทำไมโบรกน้องใหม่ถึงลดราคาแบบนี้ได้และธุรกิจจะไม่ขาดทุนหรือ?

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีปัญหาว่าบริษัทหลักทรัพย์บางรายจัดโปรโมชั่นซื้อขายหลักทรัพย์ในราคาต่ำมาก และอาจไม่สะท้อนต้นทุนการดำเนินงานที่แท้จริงนั้น ก.ล.ต.ได้ขอให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวชี้แจงและส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ ก.ล.ต.พิจารณาแล้ว เนื่องจากหากการลดราคาดังกล่าวเป็นเรื่องจริงอาจนำไปสู่การแข่งขันรุนแรง เพราะผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถสร้างประโยชน์ ให้บริการที่มีคุณภาพแก่นักลงทุนได้

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ประกอบการจะดูแลกันเองผ่านระบบสมาคม เพราะเข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมมากที่สุด ตลาดหลักทรัพย์คงจะดูในด้านความสามารถของบริษัทหลักทรัพย์ว่าจะสามารถแข่งขันในระยะยาวได้หรือไม่ อยู่ยืนยงหรือไม่ ไม่ว่าจะแข็งขันอย่างไรเราต้องเน้นความยั่งยืน ถ้าโบรกไม่มีบทวิเคราะห์ของตัวเองจะมีบริการด้านอื่นมาเสริมหรือไม่

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดมุมมองว่า โบรกใหม่มีต้นทุนต่ำเพราะตัดเรื่องเจ้าหน้าที่การลงทุนและบทวิเคราะห์ ขณะที่โบรกเก่ามีต้นทุนนักวิเคราะห์ ต้นทุนการทำบทวิเคราะห์ มีมาร์เก็ตติ้งให้คำแนะนำ เรื่องนี้เป็นทางเลือกให้นักลงทุน แต่สิ่งที่สมาคมกังวลคือ หากเป็นนักลงทุนรายใหม่ยังไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจจะมีความเสี่ยงหรือไม่ และในระยะหลังมีการแข่งขันสูง บริษัทหลักทรัพย์มีบทวิเคราะห์ดีๆ เริ่มไม่เผยแพร่บทวิเคราะห์สู่สาธารณะจะเก็บไว้ให้ลูกค้าอ่านเท่านั้น ทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลน้อยลง

"เรื่องนี้ไม่ได้ถึงกับทำให้อุตสาหกรรมเสียหาย สมาคมอยากให้นักลงทุนใช้วิจารณญาณ อยากให้อุตสาหกรรมแข่งขันกันอย่างมีสเถียรภาพ และต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดอยู่รอด มีผลตอบแทนที่ดี เพราะหากขาดทุนหรือเสียหายอุตสาหกรรมก็โตไม่ได้ ส่วนการจะไม่รับบริษัทน้องใหม่แข่งขันราคาเข้าสมาคมนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงและไม่มีบทลงโทษอะไรทางกฎหมาย การแข่งขันต้องแยกกัน เราคงต้องหาวิธีอื่นคุยไปเรื่อยๆ ให้ความรู้นักลงทุนควบคู่กันไป เท่าที่ถามมาโบรกรายเดิมไม่มีใครจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ผู้ที่ให้บริการแบบครบวงจรรอบด้านยังคงมีอยู่"

ด้านนายอนุรักษ์ บุญแสวง หรือโจ ลูกอีสาน นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มุมมองผู้บริโภคชอบเรื่องการแข่งขันอยู่แล้ว คนได้ประโยชน์เรื่องนี้โดยตรงคือนักลงทุนรายย่อย เพราะปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ได้รับการเสนอจากบริษัทหลักทรัพย์อยู่แล้ว เช่น "บุฟเฟ่ต์" ซื้อขายมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน เสียค่าคอมฯสูงสุดเพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ข้อจำกัดคือ นักลงทุนรายย่อยมือใหม่จำเป็นต้องอ่านบทวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ ในต่างประเทศก็เปิดเสรีโบรกเช่นกัน มีการแข่งขันสูง แต่อยู่ได้ ส่วนตัวยังสังเกตว่าโบรกไทยอาจฮั้วราคา คนเสียประโยชน์คือรายย่อย เพราะรายใหญ่เผลอๆ ซื้อขายถูกกว่าราคาโปรโมชั่นโบรกใหม่ให้ด้วยซ้ำ

นายธนัท วงษ์ชูแก้ว ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ หรือสไบโตะ กล่าวว่า เพราะบริษัทเปิดให้ซื้อขายเฉพาะออนไลน์เทรดดิ้ง ไม่มีมาร์เก็ตติ้ง เมื่อไม่มีต้นทุนด้านนี้ บริษัทจึงสามารถลดราคาให้ต่ำกว่าเจ้าอื่นประมาณ 30% บริษัทลดราคา 90% นั้นเป็นเพียงโปรโมชั่นจูงใจในช่วง 3 เดือนแรกเพิ่งเปิดให้บริการเท่านั้น ความกังวลว่าบริษัทจะทำให้อุตสาหกรรมโบรกเสียหายนั้น คงต้องตั้งคำถามว่าจำนวนลูกค้าเปิดบัญชี 1,000 บัญชี ภายใน 3 สัปดาห์นั้น ถือว่าเป็นจำนวนมากขนาดนั้นหรือไม่ และบริษัทเองก็ไม่มีนโยบายแย่งชิงนักวิเคราะห์หรือมาร์เก็ตติ้งแบบรายอื่นทำ

"เรามีวิธีการทำงานไม่เหมือนคนอื่น ไม่จำเป็นต้องมีสาขา เพราะมีพนักงานอำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารเพียง 30-40 คน หากลูกค้าต้องการเปิดบัญชีก็เพียงเปิดหน้าเว็บไซต์ ทำแบบสอบถามรับความเสี่ยง จากนั้นก็นำเอกสารพร้อมบัตรประชาชนไปที่เซเว่นอีเลฟเว่นเพื่อสแกนบาร์โค้ดและยืนยันตัวตนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เรียกได้ว่าเราต้องการลูกค้าขนาดเล็กเปิดบัญชี 500 บาท ก็รับ"

นายธนัทชี้แจงต่อว่า เรื่องบทวิเคราะห์จะทำให้นักลงทุนอ่านนั้น บริษัทซื้อของบริษัทพันธมิตรอย่างฟินันเซียมาให้บริการลูกค้าและมีนักวิเคราะห์ประจำบริษัทอีก 2 คน คุณภาพจึงไม่ต่างจากโบรกอื่น บริษัทเองต้องทำระบบและทำธุรกิจแบบไม่ขาดทุน เพราะต้องการความไว้วางใจจากลูกค้า หากราคาถูกมากแต่ไม่น่าเชื่อถือใครจะมาใช้บริการ

นายธนัทยอมรับว่า การที่บริษัทเข้ามาทำการตลาดแบบนี้ ยอมรับว่าน่าจะทำให้อุตสาหกรรมโบรกเกอร์ต้องเปลี่ยนผ่าน มาร์เก็ตติ้งต้องปรับตัว ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะเลือกใคร

นับเป็นอีกบริบทหนึ่งของการแข่งขันยุคเสรี


มติชนรายวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook