เลาะแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง ปักหมุด 5 สถานี-ไม่มีเวนคืน

เลาะแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง ปักหมุด 5 สถานี-ไม่มีเวนคืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เริ่มตั้งไข่แล้ว โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทองของ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก "ไอคอนสยาม"

โปรเจ็กต์ร่วมทุนของกลุ่มสยามพิวรรธน์และแมกโนเลียธุรกิจในเครือซีพีมาก่อสร้าง เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับการเปิดศูนย์การค้ายักษ์เดือน ธ.ค. 2560

"ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์" ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เปิดเผยว่า วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ กทม.มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณารายละเอียดโครงการ คาดว่าการศึกษาจะเสร็จเดือน ม.ค. 2559 ตามแผนจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการเดือน ธ.ค. 2560 มีผู้ใช้บริการ 47,000 คน/วัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชน ที่พักอาศัย ตั้งอยู่หนาแน่น และมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงในอนาคต จะมีห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สำนักงานและร้านอาหาร

"โครงการสร้างเสร็จ เอกชนจะโอนเป็นทรัพย์สินให้กทม.ทั้งหมด และ กทม.จะเป็นผู้บริหารจัดการ จัดเก็บค่าโดยสารเป็นรายได้แก่ท้องถิ่น เพื่อลดภาระ แนวคิดก็สอดคล้องกันระหว่าง กทม.กับเอกชนที่จะลงทุนค่าก่อสร้างและระบบรถไฟฟ้าให้"

สำหรับแนวเส้นทางจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีแดง โดยจุดเริ่มต้นต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก รวม 2.7 กม. มี 5 สถานี (ดูแผนที่) แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ช่วงบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน ระยะทาง 1.7 กม. จากสถานีบีทีเอสแนวเส้นทางจะวิ่งมาตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณาราม มุ่งหน้าไปตามถนนเจริญนคร ผ่านถนนเจริญรัถ แยกคลองสาน และสิ้นสุดหน้าโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีไอคอนสยาม (G2) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 และสถานีคลองสาน (G3) ใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 พันล้านบาท

ระยะที่ 2 จากโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 1 กม. มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี G4 อยู่ก่อนถึงโรงเรียนจันทรวิทยาและสถานี G5 อยู่ก่อนถึงวัดอนงคารามวรวิหาร ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดโป้) จะสร้างอยู่ในสถานีกรุงธนบุรี

"ปีหน้าจะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้า รวมถึงจะทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จะใช้เวลาไม่นาน เพราะไม่มีเวนคืน สร้างบนเกาะถนนและทางเท้า และใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดรอง จะมีความยืดหยุ่นจัดรูปแบบสถานี และช่วยรับส่งคนเข้าระบบหลักอย่างบีทีเอส สายสีม่วงและสายสีแดงได้ในอนาคต เพื่อแก้รถติด"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook