ไขคำตอบลงทุน LTF-RMF ถือยาว...ใครว่าผลตอบแทนไม่ติดลบ

ไขคำตอบลงทุน LTF-RMF ถือยาว...ใครว่าผลตอบแทนไม่ติดลบ

ไขคำตอบลงทุน LTF-RMF ถือยาว...ใครว่าผลตอบแทนไม่ติดลบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการลงทุนปี 2558 ฤดูกาลของการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี ได้วนกลับมาอีกครั้ง แต่รอบปีนี้พิเศษกว่าหลายปีก่อน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างมาก การลงทุนก็ยากขึ้น และต้องวางแผนลงทุนให้รัดกุมขึ้นด้วย

LTF-RMF หรือ "กองทุนแฝด" ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ที่ระบุว่าขนาดสินทรัพย์ล่าสุด ณ วันที่ 15 กันยายน 2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.19 แสนล้านบาท แบ่งเป็น LTF ขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ราว 2.53 แสนล้านบาท และ RMF อยู่ที่ 1.66 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2555 (3 ปีก่อนหน้า) ที่มีสินทรัพย์รวมมูลค่า 3.22 แสนล้านบาท แบ่งเป็น LTF อยู่ระดับ 1.99 แสนบาท RMF 1.23 แสนบาท

ผลตอบแทนลงทุน LTF ถดถอย

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีทิศทางผันผวนอย่างมาก จากทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศไทย ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนแฝดที่ลงทุนในหุ้นปรับตัวลดลง หรือบางกองทุนอยู่ในระดับที่ติดลบ ดังนั้นนักลงทุนหลายคนจึงมีคำถามที่ค้างคาใจว่า "ควรลงทุนในกองทุนแฝดอย่างไร ในช่วงที่เหลือของปีนี้"

โดยข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าผลตอบแทนการลงทุนในกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้น 100% แบบรายปีในปี 2554 ผลตอบแทนอยู่ที่ 11.35% แต่ปี 2555 ผลตอบแทนตกลงมาอยู่ที่ 2.38% ปี 2556 อยู่ที่ 5.88% และในปี 2557 พบว่าผลตอบแทนติดลบ -7.22%

ตอบคำถามคาใจลงทุน LTF

"สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล" นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า คำถามยอดนิยมได้แก่ "การลงทุน LTF ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ควรลงทุนอย่างไร รอซื้อช่วงปลายปีดีหรือไม่ ?" ทาง "บล.ฟิลลิป" มีความเห็นว่า นักลงทุนควรเริ่มลงทุนทันที และไม่ควรรอลงทุนช่วงปลายปี (เดือนธันวาคม) เพียงอย่างเดียว เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินลงทุนไหลเข้ามาซื้อสุทธิ LTF ประมาณ 3.7 พันล้านบาทเท่านั้น จากปกติที่จะมีเงินลงทุนเข้าซื้อสุทธิปีละประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท หมายความว่ายังมีเงินเกือบ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท รอเข้าลงทุนในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นต่างปรับตัวขึ้น นักลงทุนอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

"หากพิจารณาความน่าจะเป็น ก็มีโอกาสถึง 100% ที่เงินจะไหลเข้าลงทุนกระจุกตัวในเดือนธันวาคมเมื่อทุกคนแย่งกันซื้อหุ้นก็จะแพงขึ้น เราจึงแนะนำให้ซื้อทันที ไม่ต้องไปรอซื้อช่วงปลายปี"

สำหรับคำถามที่ว่า "หาก LTF ครบกำหนดอายุไถ่ถอน ปี 2559 ควรถอนเงินลงทุนออกหรือไม่" ประเด็นนี้แนะนำว่า นักลงทุนควรวิเคราะห์ผลตอบแทนอย่างละเอียด โดยเฉพาะนักลงทุนที่เริ่มลงทุนในช่วงปลายปี 2555 และครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2559 ซึ่งแม้ภาพรวมจะสร้างกำไรได้ประมาณ 2.32% แต่ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ เพราะอัตราดังกล่าวรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปีเข้าไปแล้ว จึงแนะนำให้นักลงทุนถือต่อไปอีก 1-2 ปี เพื่อรอให้ได้ผลตอบแทนที่คาดหวัง

ผลตอบแทนไม่ดีควรทำอย่างไร

อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามอีกว่า "เมื่อกองทุนเดิมไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ ควรเปลี่ยนไปยังกอง LTF กองอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหรือไม่ ?" มุมมองของ "สานุพงศ์" อธิบายว่า สามารถทำได้แต่นักลงทุนควรวิเคราะห์ก่อนว่า กองทุน LTF ของตนเอง หากเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ หรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% (70/30) แนะนำให้สามารถเปลี่ยนเป็นกองทุน LTF หุ้น 100% ได้ เพราะที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากแล้ว ดังนั้นจึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากราคาหุ้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

แต่หากนักลงทุนเลือกซื้อกองทุนLTF ที่ลงทุนในหุ้น 100% ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปยังประเภทอื่น เพราะการลงทุน LTF ที่มีสัดส่วนตราสารหนี้ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นได้ ขณะเดียวกันแนะนำว่านักลงทุนไม่ควรปรับเปลี่ยนกองทุนบ่อย เพราะการจะหมุนเงินเข้าไปใน LTF ที่สร้างผลงานที่ดีในรอบ 1 ปี ถือเป็นดัชนีชี้วัดระยะสั้นเกินไป ซึ่งอาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระยะยาวได้ อีกทั้งนักลงทุนจะมีต้นทุนเพิ่มจากค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนกองทุนด้วย

กสิกรไทยแนะหยุดวิตกลงทุนยาว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนระยะยาวของ LTF นักลงทุนอาจกังวลต่อปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้เลือกจังหวะการลงทุนได้ไม่ดีนัก จึงแนะนำวิธีซื้อหน่วยลงทุนสะสมเฉลี่ยรายเดือน ซึ่งการกำหนดวันซื้อกองทุนอย่างแน่นอน จะช่วยให้นักลงทุนมีต้นทุนที่ไม่ถูกหรือแพงไป เมื่อเทียบกับการลงทุนครั้งเดียวในช่วงปลายปี กลยุทธ์นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะมีต้นทุนที่เหมาะสม

นอกจากนี้ประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2559 จะอยู่ที่ 1,600 จุด สูงขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ระดับ 1,450 จุด เนื่องจากปีหน้าจะเริ่มมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น จึงจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลดี

สำหรับความกังวลของนักลงทุนที่ว่า LTF กำลังจะหมดมาตรการสิทธิประโยชน์ภาษีในปี 2559 ส่วนตัวประเมินว่าทางออกของประเด็นนี้น่าจะมีทิศทางที่ดี และไม่ว่าผลสุดท้ายทางการจะตัดสินใจอย่างไร นักลงทุนก็ควรมีทั้งเงินออมระยะสั้น สำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉิน และการลงทุนระยะยาว สำหรับการใช้จ่ายยามเกษียณ

ลุ้นคลังต่อเวลาลดหย่อนภาษีต้นปี′59

ด้านแหล่งข่าวตลาดทุนกล่าวว่า จากการหารือล่าสุดกับกระทรวงการคลัง พบว่ามีแนวโน้มที่ LTF จะได้รับการต่ออายุสิทธิประโยชน์ภาษี แต่อาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ขยายอายุการออมจากเดิมที่กำหนดให้ลงทุน 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน เพื่อให้นักลงทุนได้ออมระยะยาวตามหลักการลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจำเป็นต้องรอให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ

"ทางการเห็นด้วยกับแนวคิดการออมระยะยาว เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้หลังเกษียณ และที่ผ่านมา LTF-RMF มีส่วนสำคัญในการพยุงตลาดทุนไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนต่างชาติเทขายออกจากหุ้นไทย ดังนั้นทั้ง 2 กองแฝดจึงเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มเสถียรภาพตลาดการลงทุนได้ดี" แหล่งข่าวกล่าว

"ประสงค์ พูนธเนศ" อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ความชัดเจนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเหมาะสม รวมถึงค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตลอดจนมาตรการภาษี LTF ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปและเสนอกระทรวงการคลังได้ในช่วงต้นปี 2559

ถอดสูตรลงทุน RMF

สำหรับการลงทุนใน RMF ซึ่งต้องลงทุนและถือหน่วยลงทุนระยะยาว จนกระทั่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี "วีระ วุฒิคงศิริกูล" รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย อธิบายว่า นักลงทุนจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า "สามารถรับความเสี่ยงได้ระดับไหน ?" หากรับความเสี่ยงได้มาก ก็สามารถลงทุนในกองทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นในอัตราที่สูงขึ้นได้ แม้กระทั่งการลงทุนใน RMF ที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

จากนั้นนักลงทุนจึงมาวิเคราะห์เรื่อง "นโยบายการลงทุน" ของกองทุนที่สนใจ รวมถึงต้องสังเกตด้วยว่ากองทุนที่จะเลือกซื้อนั้น เป็น RMF ประเภทที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนี (Active Fund) หรือเป็น RMF ประเภทที่สร้างผลตอบแทนในระดับเดียวกันกับดัชนี (Passive Fund) โดยข้อดีของ Active Fund นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่า ผู้จัดการกองทุนจะพยายามปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ดีกว่าตลาด แต่หากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาด ก็อาจได้รับความเสี่ยงจากผลตอบแทนที่ลดลง

ส่วน Passive Fund ซึ่งจุดสังเกตตรงที่มักจะมีคำอ้างอิงว่า "SET50" หรือค่าดัชนีต่าง ๆ ไว้ในชื่อกองทุน จุดเด่นตรงที่ นักลงทุนจะมั่นใจได้ว่าในภาวะตลาดขาขึ้น กองทุนจะสร้างผลตอบแทนที่ไม่น้อยกว่าตลาดอย่างแน่นอน เพียงแต่หากเป็นช่วงตลาดขาลงก็ต้องรับความเสี่ยงเช่นกัน

การลงทุนระยะยาวอาจลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง...แต่หากลงทุนแบบไร้กลยุทธ์ไม่รู้เทคนิคการลงทุน ก็อาจสร้างความเสี่ยงทวีคูณ...โค้งสุดท้ายนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการแก้มืออีกครั้ง กับ "กองทุนแฝด"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook