ภาษีและการบริหารการเงิน[ซีรีส์] ตอน เงินเดือน 30,000 บาทลงทุนอะไรดี ที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี.?
หลังจากเราเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องภาษีไปแล้วว่า คนที่ต้องเข้าระบบภาษีหรือมีหน้าที่ต้องยื่นแบบเพื่อคำนวณภาษีประจำปี ต้องมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเท่าไร และเมื่ออยู่ในระบบภาษีแล้ว แต่ละคนมีสิทธิอะไรบ้างที่นำมาลดหย่อนภาษี คนโสด กับ คนมีคู่ ได้สิทธิเท่ากันหรือต่างกันอย่างไรไปแล้ว
วันนี้เรามาดูในเชิงรายละเอียดแบบเจาะจงไปเลยว่า หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานมีเงินเดือน 30,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนระดับนี้ก็ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ควรลงทุนอะไรดี ที่ได้ประโยชน์ระยะยาวและได้ประโยชน์ทางภาษี หรือพูดง่ายๆ ว่าลงทุนไปแล้วทำให้เราไม่ต้องเสียภาษีปลายปีนั้นเอง
เรามาลองแยกแยะกันเลยดีกว่าว่า เงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือนต้องเสียภาษีเท่าไรก่อน โดยระดับเงินเดือนขนาดนี้สิ่งที่ต้องมีอยู่แล้วของมนุษย์เงินเดือนทั่วไปคือ การเป็นเป็นสมาชิก ของกองทุนประกันสังคม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ในการคำนวณต้องคิดจากรายได้รวมทั้งปี เรามาดูรายละเอียดตามเงื่อนไขนี้กันเลยครับ(กรณีตัวอย่างเป็นกรณีคนโสดนะครับ)
เงินเดือน 30,000 บาท = 360,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย 40 % ของเงินเดือนแต่ไม่เกิน -60,000 บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว -30,000 บาท
ประกันสังคมหักได้ตามจริงแต่ไม่เกิน -9,000 บาท
เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีเราเราจ่าย 5 %ของเงินเดือนเท่ากับ -18,000 บาท
หักค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา (คนละ30,000บาท) -30,000 บาท
(ตัวอย่างนี้ให้หักได้คนเดียว)
เหลือเงินได้เมื่อหักค่าลดหย่อนแล้ว 213,000 บาท
รายได้ส่วนที่ไม่เกิน150,000 ได้ยกเว้นภาษี -150,000 บาท
เหลือเงินได้ที่ต้องคำนวณภาษี 63,000 บาท
ซึ่งจากฐานดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตรา 5 % = 3,150 บาท
จากตัวอย่าง ทำให้เรารู้ว่า เรามีฐานรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีจำนวน 63,000 บาท ซึ่งทำให้เสียภาษีจำนวน 3,150 บาท ดังนั้น หากเราลงทุนในประเภทการลงทุนที่ได้รับสิทธินำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จะทำให้เราไม่ต้องจ่ายภาษีปลายปี
จากตัวอย่างนี้ ฟันธงเลยว่า ประเภทการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อทำให้เราได้ประโยชน์เต็มที่ทั้งในแง่การสร้างความมั่งคงระยะกลาง และได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุดคือ ....การลงทุนใน LTF และ RMF และการลงทุนใน ประกันชีวิตแบบออมเงินระยะยาว...เพราะ การลงทุนเหล่านนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงปีละ100,000 บาทสำหรับประกันฯและ 500,000 บาทสำหรับกองทุนLTF และ RMF
ในตอนต่อไป มาดูกันว่า LTF และ RMF ต่างกันอย่างไร แล้วจะเลือกลงทุนในกองทุนไหนดี...?
ติดตามบทความที่เกี่ยวข้อง
-ภาษีและการบริหารกาเงิน[ซีรีส์] ตอน รู้ยัง! ทำงานมีรายได้ ต้องจ่ายภาษีหรือไม่อย่างไร...?
-ภาษีและการบริหารกาเงิน[ซีรีส์] ตอน มนุษย์เงินเดือน ลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง..?