ประมงมหาชัย-อัมพวาสิ้นแรง แปรรูป-ห้องเย็นแห่ปิดกิจการ
อุตสาหกรรมประมง "เมืองมหาชัย-อัมพวา" ปั่นป่วนไม่หยุด หลังโดนหางเลข ศปมผ. กำหนดวันหยุดทำประมงพร้อมกัน ปริมาณสัตว์น้ำหาย 50% ทุบราคาผันผวนหนัก ผู้ประกอบการแปรรูปรายเล็กกระอักถูกรายใหญ่กว้านซื้อตัดหน้า ด้านโรงงานแปรรูป-ห้องเย็นสมุทรสาครปิดตัวต่อเนื่อง 100 แห่ง เหตุขาดสภาพคล่องหนัก หลายรายประกาศขายกิจการ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมเรือลากคู่สมุทรสงคราม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อุตสาหกรรมประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองแจ้งเตือนประเทศไทยมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยอียูได้ยืดเวลาให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหา IUU Fishing ทั้งระบบออกไปอีก 2 เดือน และจะให้ส่งรายงานความคืบหน้าจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหา และส่งรายงานอียูให้ทัน 2 เดือนสุดท้าย โดยให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาด้านการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กำหนด
วันหยุดทำการประมง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงเป็นวงกว้าง ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก -ค้าส่งอาหารทะเล และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะสัตว์น้ำเข้าสู่ตลาดแบบไม่สม่ำเสมอ ทำให้กลไกตลาดเปลี่ยนไป หากเป็นช่วงที่เรือประมงเทียบท่า ราคาอาหารทะเลจะอยู่ในภาวะปกติ แต่ช่วงที่เรือประมงออกทะเล ราคาจะพุ่งสูงขึ้น 50% ทำให้ผู้ประกอบการ และโรงงานขนาดใหญ่กว้านซื้อวัตถุดิบตุนไว้
"ต้องการให้รัฐสลับวันหยุดเดินเรือประมงใหม่ โดยไม่ให้เรือประมงเข้ามาเทียบท่าพร้อม ๆ กัน เพราะจะได้กระจายสัตว์น้ำเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ แนวทางแก้ไขปัญหาดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ การสลับวันไม่ให้เรือหยุดพร้อมกัน"
นายมงคลกล่าวต่อว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าหน้าที่อียูได้เดินทางมาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาประมง จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสงขลา เบื้องต้นได้ชื่นชมว่าไทยมีระบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่จะต้องรอสรุปผลรายงานปลายปีอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่ดี และคาดว่าต้นปี 2559 มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากใบเหลืองได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในปี 2559 เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมาก
ด้านนายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากการที่ ศปมผ.กำหนดวันหยุดทำการประมง ทำให้สัตว์น้ำเข้าสู่โรงงานน้อยลง หรือหายไปกว่า 50% ส่วนหนึ่งถูกผู้ประกอบการรายใหญ่กว้านซื้อในราคาที่สูง ส่วนรายเล็กที่มีเงินทุนน้อยไม่สามารถสู้ราคาได้
ปัจจุบันมีโรงงานขนาดเล็กที่อยู่ในชมรมกว่า 100 แห่ง ปิดกิจการลง เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะเดียวกันยังมีโรงงาน และห้องเย็นกว่า 20 แห่งติดป้ายประกาศขายกิจการ หลังจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักมาหลายเดือน บางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบจากเมียนมา แต่ราคาจะสูงกว่าปกติ 50% นอกจากนั้นผู้ประกอบการก็เริ่มปรับตัวหันมาจ้างแรงงานเมียนมาเป็นรายวันแทนการจ้างรายเดือน
นางสาวิกา ศิริบุญญาวงศ์ ประธานสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด และผู้ประกอบการเรือประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัจจุบันราคาสัตว์น้ำผันผวนอย่างมาก เพราะการให้หยุดเดินเรือทำให้กลไกราคาเปลี่ยนไป ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเรือประมงกำลังเสนอต่อรัฐบาลให้มีการสลับวันหยุดเรือประมง เพื่อให้สัตว์น้ำเข้าสู่ตลาดสม่ำเสมอ ทำให้ราคาไม่ผันผวนมาก
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับผลกระทบ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติงบประมาณ 700 ล้านบาท ช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับผลกระทบนั้น ขณะนี้ในอยู่ในขั้นตอนให้เรือประมงยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือ