วางถุงกาวในมือลงก่อนสักนิด ก่อนคิดจะซื้อบ้านเพื่อลดหย่อนภาษี

วางถุงกาวในมือลงก่อนสักนิด ก่อนคิดจะซื้อบ้านเพื่อลดหย่อนภาษี

วางถุงกาวในมือลงก่อนสักนิด ก่อนคิดจะซื้อบ้านเพื่อลดหย่อนภาษี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

TAXBugnoms

บล็อกเกอร์ผู้รวมเรื่องราวและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานในแวดวงภาษี บัญชี การเงิน การลงทุน และเรื่องราววุ่นๆในการใช้ชีวิต


เมื่อไม่นานมานี้ เราจะเห็นข่าวทางคณะรัฐมนตรีมีมติกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์มามากมายครับ ซึ่งในวันนี้ผมได้รวบรวมมาตรการการลดหย่อนภาษีทั้งหมดออกมาเป็นตารางง่ายๆสั้นๆในสไตล์ TAXBugnoms พร้อมกับเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

โดยเงื่อนไขสำหรับสิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษีนั้น 5 ปี ประกอบด้วยรายละเอียดต่อไปนี้ครับ

ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2559 เป็นต้นไป (เริ่มยื่นแบบภายใน 31 มีนาคม 2560)
ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย

ซึ่งถ้าพิจารณาเงื่อนไขคร่าวๆ เราจะเห็นว่านโยบายตัวใหม่นี้คลับคล้ายคลับคลากับนโยบายบ้านหลังแรกนั่นเองครับ เพียงแต่เปลี่ยนสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน มาหักเป็นค่าลดหย่อนแทน ทีนี้เรามาดูสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพื่อความเข้าใจอันดีกันต่อเลยนะครับ

สมมุติว่านายบิ้กจี้ซื้อบ้านหลังแรกของตัวเองในราคา 3 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และคาดว่าจะถือครองครบตามเงื่อนไขที่กำหนด นายบิ๊กจี้จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีดังนี้


1 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากการซื้อบ้าน มาใช้เป็นค่าลดหย่อนสูงสุดเป็นจำนวน 100,000 บาท
2 นำมูลค่า 20% ของราคาบ้าน (600,000 บาท) มาใช้สิทธิยกเว้นภาษี (โดยการลดหย่อน) ปีละ 120,000 บาทเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน

แหม่.. นี่คือตัวอย่างที่ยกมาทำให้เงื่อนไขภาษี และโลกใบนี้สวยงามจนใครหลายคนน่าจะเกือบเผลอใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เหลือเกินใช่ไหมล่ะครับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งดูดี นโยบายนี้ช่างเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ดี และได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นของแถมอีกด้วยครับ


แต่เดี๋ยวก่อน… พักสมองปรับจูนกันสักนิด เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องคิด คือ ถ้าหากเราไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสักเท่าไร ลองมาดูกันต่อไปอีกสักหน่อยว่า มาตรการกระตุ้นที่ออกมาใหม่นี้มันมีประโยชน์อะไรกับเรา “จริง” หรือเปล่าครับ

ก่อนที่โฉนดในมือกำลังจะกลายเป็นกระดาษเช็ดน้ำตา และกาวในมืออีกข้างจะทำให้เราสนใจสิทธิในการลดภาษีมากกว่าบ้านที่เราซื้อ เรามาดูตัวอย่างกันต่อดีกว่าครับว่าในโลกแห่งความจริงนายบิ้กจี้ผู้เป็นมนุษย์เงินเดือนจะสามารถใช้สิทธินี้ได้มากแค่ไหน…

สมมุติต่อไปว่า นายบิ้กจี้คนดีศรีสยาม ผู้เป็นหนุ่มโสดตัวเปล่าเล่าเปลือย มีรายได้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ในอัตรา 30,000 บาทต่อเดือนพอดี๊พอดีที่จะกู้ขั้นต่ำกับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อซื้อบ้านตามนโยบายดังกล่าวได้ ทีนี้.. เราลองมาคำนวณภาษีที่นายบิกจี้ต้องเสียกันก่อนที่จะมีมาตรการกระตุ้นอสังหากันดีกว่าครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
(360,000 – 60,000 – 30,000) = 270,000 บาท
สรุปว่า.. ภาษีที่นายบิ้กจี้ต้องเสียคือ = 6,000 บาท

เมื่อมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มา นายบิ้กจี้จึงไม่รีรอคว้าโอกาสนี้ไว้ รีบโอนบ้านซื้อใหม่ทันที๊ทันทีสมมุติต่อไปว่า นายบิ๊กจี้ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีจำนวนปีละ 120,000 บาทมา และได้สิทธิในการใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี ถ้าเราลองคำนวณภาษีของนายบิ้กจี้ใหม่ก็จะพบว่า…

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
360,000 – 60,000 – 30,000 – 100,000 – 120,000 = 50,000 บาท
ทำให้.. นายบิ้กจี้ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท … ชะละล่า
เพราะเงินได้สุทธิได้รับยกเว้นนั่นเอง

เมื่อเรามาถึงจุดนี้ ย่อมแปลว่าสิทธิที่นายบิ้กจี้ได้มานั้น สามารถลดภาษีได้สูงสุดเพียงแค่ 6,000 บาทเท่านั้นครับ แต่สิ่งที่เป็นภาระจริงๆ ที่คนเงินเดือน 30,000 บาทอย่างนายบิ้กจี้ต้องเจอก็คือ… ค่าผ่อนบ้านเดือนละ ……. บาท (กรุณาเติมตัวเลขในช่องว่างตามความต้องการผ่อน) และคำถามสุดท้ายคือนายบิ้กจี้จะสามารถผ่อนไหวหรือไม่ เมื่อเทียบกับรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

เอาล่ะครับ เพื่อให้เข้าใจกับแบบสุดติ่ง ผมอยากจะให้ลองดูอีกตัวอย่างนึงของนายบิ้กตู่ เอ้ย นายบิ้กจ๊ะ ผู้ซึ่งมีรายได้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนในอัตรา 100,000 บาทต่อเดือนกันบ้างครับ โดยกำหนดให้นายบิ๊กจ๊ะมีมีเงื่อนไขเหมือนนายบิ๊กจี้ทุกประการ ถ้าลองคำนวณดูเราจะได้ตัวเลขอีกอย่างนึงที่คุณต้องหลั่งน้ำตากันเลยทีเดียวครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
1,200,000 – 60,000 – 30,000 = 1,110,000.- บาท
ดังนั้น … ภาษีที่นายบิ้กจ๊ะต้องเสียคือ = 142,500 บาท

แต่ถ้าหากเลือกนายบิ้กจ๊ะเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อลดภาษีนี้ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
1,200,000 – 60,000 – 30,000 – 100,000 – 120,000 = 890,000.- บาท
ทำให้.. ภาษีที่คำนวณได้ของนายบิ้กจ๊ะคือ = 93,000 บาท
แหม่.. ลดลงไปอีกเพียบ

ถ้าหากคุณเป็นคนที่มีฐานะดี มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก และมีความสามารถในการผ่อนชำระ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นนี้ ถือเป็นเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นเลยล่ะครับ เพราะคุณจะสามารถใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ตามความสามารถในการหารายได้ของคุณ

แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขอแนะนำว่า… อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการผ่อนชำระก่อนนะครับว่าไหวหรือเปล่า เพราะภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อนไปนั้นหากทำผิดเงื่อนไขก็แปลว่าเราต้องกลับไปจ่ายเพิ่มพร้อมกับเงินเพิ่มที่ต้องเสีย (1.5% ต่อเดือน) อีกด้วยครับ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ..คนที่ไม่มีบ้านหลังแรก หรือไม่เคยมีบ้านมาก่อนนั้น น่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีเงินเดือนเท่าไร และนโยบายนี้ถ้าออกเป็นกฎหมายชัดเจนออกมาเมื่อไร ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คิดไปคิดมาแล้วปวดหัวซะแล้วครับ เอาเป็นว่าอย่าลืมพิจารณาให้ดีละกันนะคร้าบ

สุดท้ายแล้ว.. นิทาน เอ้ย บทความนี้ตั้งใจจะสอนให้รู้ว่า
ไม่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจะดีแค่ไหนก็ตาม อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการจัดการและบริหารเงินของตัวเองให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนนะครับ เพราะการใช้โฉนดเช็ดน้ำตามันไม่ได้แปลว่าหนี้จะลดลงแต่อย่างใด ฝากไว้เท่านี้ วันนี้พรี่หนอมขอลาไปก่อน… สวัสดีครับ ^^

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook