6 วิธีการสำรองเงิน เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

6 วิธีการสำรองเงิน เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

6 วิธีการสำรองเงิน เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อได้เงินเดือนมาแต่ละเดือน เราต้องประเมินว่า ในเดือนนั้น ๆ มีค่าใช้จ่ายที่ควรจะจ่ายเท่าไหร่ และกันเงินที่จะต้องจ่ายออกไป เงินส่วนที่เหลือ อาจนำไปใช้กับการท่องเที่ยวหรือความบันเทิง แต่หากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คิดว่าจะต้องจ่ายเกิดขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ จะทำให้ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายได้ เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีการกันเงินส่วนนี้ไว้ ดังนั้น หลายคนจึงตั้งเงินจำนวนหนึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายเป็นเงินฉุกเฉิน แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสำรองเงินตัวนี้อย่างไร วันนี้ MoneyGuru.co.th มีวิธีการเก็บเงินเพื่อตั้งเป็นเงินไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินมาให้ทราบกันครับ

1. เก็บก่อน จ่ายทีหลัง
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ อาจคิดว่า ควรเก็บเงินจากเงินที่เหลือใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก เพราะเวลาที่เราใช้เงินในแต่ละเดือนโดยไม่เก็บเงินไว้ก่อน จะทำให้รู้สึกว่าเรามีเงินเหลืออยู่เยอะ จึงใช้จ่ายออกไปมาก พอสิ้นเดือน ก็จะไม่เหลือเงินให้เก็บแล้ว จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด เป็นการเก็บเงินก่อนที่จะใช้จ่ายออกไป เมื่อเก็บเงินไว้ก่อน ทำให้คุณรู้สึกไม่อยากใช้เงินเก็บนั้น เพราะมันเป็นเงินเก็บไปแล้ว จะทำให้คุณต้องพยายามบริหารเงินที่เหลือให้พอดีกับค่าใช้จ่ายในเดือนนั้น ๆ และแม้เงินที่เหลือจะไม่พอจ่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้น คุณก็ยังมีเงินที่เก็บไว้ตั้งแต่ต้นเดือนมาให้สำรองใช้ได้

2. กำหนดมันไว้ และพยายามไม่คิดถึงมัน
การกำหนดทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติ จะทำให้ลดความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเราเองได้มากที่สุด ดังนั้น ควรกำหนดให้มีการโอนเงินจากบัญชีรายรับของคุณเข้าสู่บัญชีเงินเก็บอย่างอัตโนมัติในทุก ๆ เดือน เพื่อป้องกันการลืมนำเงินเข้าบัญชีเงินเก็บ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถมีเงินเก็บได้ทุก ๆ เดือนสำหรับสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินแล้วครับ

3. สะสมเงินได้พิเศษ
บางครั้ง คุณอาจได้รับเงินได้พิเศษนอกเหนือจากงานประจำ เช่น ได้คืนภาษี หรือได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่ควรละเลย หรือนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย จะต้องนำส่งเข้าบัญชีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉินทันที เพื่อให้เงินก้อนนี้มีเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเงินก้อนนี้มีมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งอุ่นใจเท่านั้นครับ

4. พยายามตัดรายจ่าย
บางครั้ง การที่คุณเก็บเงินไม่ได้ อาจเป็นเพราะรายจ่ายของคุณมีมากเกินไป ควรหันกลับมาทบทวนรายจ่ายของคุณ ว่ามีรายจ่ายรายการใดบ้าง ที่ทำให้คุณสิ้นเปลืองอย่างไม่จำเป็น เช่น การมีจานดาวเทียมที่มีช่องมากเป็นพันช่อง ทั้งที่คุณดูไม่กี่ช่อง หรือ คุณออกไปกินข้าวนอกบ้านทุกวัน สิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินมากกว่าความจำเป็น หากตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้ จะทำให้คุณมีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉินมากขึ้นครับ คุณอาจใช้วิธีในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยด้วยก็ได้

5. ทำให้เงินออกดอกผล
การทำให้เงินออกดอกผล จะทำให้คุณมีเงินเพิ่มขึ้น ควรเก็บเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินของคุณไว้ในบัญชีที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูง เงินทุกบาทที่เป็นดอกเบี้ยนั้นมีค่า ไม่ควรละเลยผลประโยชน์ที่ได้มาง่าย ๆ ตรงนี้ไปครับ

6. ใช้เงินก้อนนี้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
วัตถุประสงค์ของเงินก้อนนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นเงินที่สำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น ห้ามนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ซื้อสินค้าที่อยากได้ เพราะจะทำให้เงินนี้สิ้นสภาพความเป็นเงินฉุกเฉินไป และจะทำให้คุณเสียวินัยการใช้เงินไปในที่สุด

ทั้ง 6 วิธี ท่านผู้อ่านสามารถทำตามและดัดแปลงได้ตามวิธีการที่ท่านผู้อ่านสะดวกครับ และคุณผู้อ่านก็สามารถหาวิธีการในการเก็บเงินใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเองอีกด้วย และหากคุณผู้อ่านอยากทราบว่าเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี ก็สามารถอ่านต่อได้ที่ เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี? ครับ ส่วนเคล็ดลับด้านการเงินอื่น ๆ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามต่อได้ที่ MoneyGuru.co.th ครับ

อ้างอิง: bankrate.com, budgeting.about.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook