เจาะลึก"4จี" แข่งดุ-ทะลุเป้า
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่นับได้ว่าดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งของการประมูลในประเทศไทย โดยมีการเก็บตัวเข้าห้องแข่งขันกันยาวนาน ข้ามวันข้ามคืนติดต่อกันถึง 33 ชั่วโมงเศษ
ส่วนผลการประมูลที่ได้ออกมาก็เกินความคาดหมายของทุกฝ่าย จากราคาตั้งต้นการประมูลรวม 2 ใบอนุญาตเริ่มที่ 31,824 ล้านบาท กลับทะลุไปจนถึง 80,778 ล้านบาท โดยมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เข้าเส้นชัย
แต่ด้วยมูลค่าการประมูลที่สู้กันดุเดือดทำให้ออกมาสูงเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาตั้งข้อสงสัยกันมากมายว่าผลที่ได้นั้นสูงเกินไปหรือไม่ รวมถึงการประมูล 4จี อีก 2 ใบอนุญาต บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่าจะดุเดือดเช่นเดียวกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรือไม่
นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการแข่งด้านราคาที่มีความดุเดือด ส่วนตัวมองว่ามีเหตุมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน
1.มีผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต โดยมีผู้เข้าประมูลทั้งสิ้น 4 ราย แต่มีจำนวนใบอนุญาตเพียง 2 ใบอนุญาตเท่านั้น ต่างจากการประมูล 3จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่มี 3 ใบอนุญาต และมีผู้เข้าประมูลเท่ากับใบอนุญาตจึงไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา
2.ความไม่แน่นอนในอนาคต ว่าในอนาคตจะมีการประมูลคลื่นอื่นใดเพิ่มเติม รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนจะประมูลในวันที่ 15 ธันวาคม จะสามารถจัดการประมูลได้แน่นอนหรือไม่
และ 3.ข้อจำกัดของผู้ประกอบการในเรื่องปริมาณคลื่นความถี่ที่ใช้งาน โดยเฉพาะในรายของเอไอเอส ที่ขณะนี้เหลือคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้งานเพียง 15 เมกะเฮิรตซ์ ก็อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าในอนาคต
ขณะที่ในส่วนของราคาประมูลที่สูงถึง 80,778 ล้านบาท ส่วนตัวมองว่าไม่คิดว่าเป็นราคาที่สูงไป เนื่องจากเป็นราคาที่ผู้ประกอบการเอกชนพิจารณาแล้วว่าพร้อมที่จ่ายในมูลค่าดังกล่าว โดยราคาในส่วนดังกล่าวก็ไม่น่าจะมีผลต่อผู้ใช้บริการ แต่อาจจะกระทบในส่วนของผู้ประกอบการเองที่จะมีกำไรน้อยลง แต่คงไม่ถึงขั้นขาดทุน
นายพรเทพกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต เชื่อว่าผู้ประกอบการมีราคาในใจแล้วในขณะนี้ รวมถึงการแข่งขันน่าจะมีความดุเดือดไม่แพ้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยในต่างประเทศคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เองก็มีมูลค่าสูงกว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากใช้จำนวนสถานีฐานน้อยกว่า เพราะคลื่นความถี่สามารถไปได้ไกลกว่า 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ในประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ที่ใช้เปิดประมูลคือ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีประมาณน้อยกว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีปริมาณใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนของราคาอาจจะเพิ่มสูงก็จริง แต่อาจจะไม่แตะถึง 80,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้เข้าประมูล เชื่อว่ารอบนี้อาจเปลี่ยนคู่แข่งจากในคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นเอไอเอส ทรู และจัสมิน ไปเป็นเอไอเอส ดีแทค และจัสมิน เนื่องจากทางเอไอเอสประกาศชัดแล้วว่าต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติม ทรูได้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไปแล้วคงไม่สู้ราคาจนสูงลิบเช่นเดิม จัสมินที่พลาดการประมูลในรอบแรกคงต้องการแก้มือ และดีแทคที่เล็งคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาตั้งแต่ต้นคงสู้ราคาเต็มที่ ซึ่งสาเหตุที่เห็นได้ว่าดีแทคเล็งที่คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ แทนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ก็เนื่องจากว่าปัจจุบันทางดีแทคมีคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในสัญญาสัมปทานให้ใช้งานจนถึงปี 2561
อีกทั้งหากสัญญาสัมปทานหมดจริง ก็เข้าประมูลต่อได้ในสภาวะที่ความต้องการไม่สูงเท่าในปัจจุบัน
ด้านนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า สาเหตุที่ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาดุเดือด มาจากกฎการประมูลที่ กสทช.ออกแบบให้ราคาประมูลมี 2 ใบอนุญาต และมีผู้เข้าประมูล 4 ราย แต่ผลลัพธ์การประมูลที่ออกมาไม่คิดว่าเป็นราคาการประมูลที่สูงเกินไป เนื่องจากหากอ้างอิงตามรายได้ที่ต้องนำส่งให้รัฐตามระบบสัญญาสัมปทานเดิมในอัตรา 25% จากรายได้รวมต่อปี ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าทางผู้ประกอบการบางรายมีรายได้ต่อปีราว 200,000 ล้านบาท เงินที่ต้องนำส่งให้รัฐเป็นรายได้สัญญาสัมปทาน 25% จะอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท แต่พอมาถึงเงินที่ได้จากการประมูลใบอนุญาตจำนวนรายละราว 40,000 ล้านบาท หากนำมาเฉลี่ย 18 ปี ตามอายุใบอนุญาต จะเห็นได้ว่าเงินที่ต้องนำส่งเข้ารัฐเฉลี่ยที่ปีละ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากราคาประมูลที่สูงนั้นเชื่อว่าประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง เนื่องจาก กสทช.กำหนดไว้เพียงแค่ต้องมีค่าใช้บริการถูกกว่า 3จี คือ บริการเสียง 69 สตางค์ต่อนาที และค่าบริการอินเตอร์เน็ตไม่เกิน 26 สตางค์ต่อเมกะบิต แต่จากการศึกษาพบว่า ในการให้บริการหากผู้ประกอบการให้บริการอยู่ที่นาทีละ 25 สตางค์ และอินเตอร์เน็ต 3 สตางค์ต่อเมกะบิต ก็ยังคงมีกำไรได้
นายอนุภาพกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแข่งขันบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เชื่อว่าการแข่งขันจะเบาลงกว่านี้ เพราะผู้ประกอบการ 2 รายที่ชนะการประมูลไปแล้ว ถ้าราคาไม่สูงมากก็อยากจะได้อีก แต่ผู้ที่พลาดหวังจากการประมูลครั้งนี้คงเดินหน้าเต็มที่ ฉะนั้นผู้ที่จะสู้ราคาสูงๆ จริงน่าจะมีเพียง 2 รายเท่านั้น
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ก่อนอื่นยอมรับว่ามีการแข่งขันกันในการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มากกว่าความคาดหมายอยู่พอสมควร และที่สบายใจคือ ไม่ปรากฏการสมคบกันด้านราคาในการประมูล 4จี ครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากการประมูล 3จี ที่ผ่านมา ที่แทบไม่มีการแข่งขันด้านราคา โดยเมื่อมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการเคาะราคาหลายรอบจนข้ามวันข้ามคืน เพียงแต่เป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในประเทศไทยมาก่อน เพราะน้อยครั้งที่จะมีเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง คนไทยเราจึงคุ้นเคยกับการฮั้วมากกว่าการแข่งขัน
ซึ่งในเยอรมนีมีการประมูลคลื่น 4จี ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 โดยมีการเคาะราคา 181 รอบ ใช้เวลา 16 วัน ได้เงิน 5 พันล้านยูโร หรือเกือบ 200,000 ล้านบาท อีกทั้งในอีกหลายประเทศก็มีการประมูลคลื่น 4จี โดยมีการแข่งขันกันมาก เพราะคลื่น 4จี คือหัวใจของการประกอบธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล
สาเหตุการแข่งกันดุเดือดมีปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.มีรายใหม่ คือ จัสมิน เข้าร่วมประมูลด้วย 2.ไม่มีข้อจำกัดเพดานในการถือครองคลื่นสูงสุดของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งส่วนนี้ต้องให้เครดิตแก่ กสทช.ที่ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว หลังได้รับเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย 3.มีการเลื่อนวันประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปเดือนธันวาคม 2558 แทนการประมูลในวันรุ่งขึ้นตามแผนเดิมของ กสทช. ซึ่งทำให้ยากที่ผู้ประกอบการจะสมคบราคากัน ในส่วนนี้ต้องให้เครดิตแก่รัฐบาล ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความโปร่งใสและการประมูลที่ไร้ข้อครหา
"การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เชื่อว่าจะมีการแข่งขันกันสูงไม่ต่างจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะโดยหลักแล้วคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่ใช้สำหรับบริการเดียวกัน จึงเป็นของที่ทดแทนกันได้ หากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มีการแข่งขันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่าคลื่นความถี่ที่ออกมาได้น่าจะใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างจากคุณสมบัติทางกายภาพของคลื่นในแต่ละย่านที่ไม่เหมือนกันก็ตาม" นายสมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย
คงต้องรอลุ้นการประมูลอีก 2 ใบอนุญาต บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่าจะดุเดือดเช่นเดิมหรือไม่...
มติชน รายวัน 14 พ.ย. 2558