จับทิศปี′59 ทองติดบ่วงขาลงเหลือราคาต่ำบาทละ 17,500 บ.

จับทิศปี′59 ทองติดบ่วงขาลงเหลือราคาต่ำบาทละ 17,500 บ.

จับทิศปี′59 ทองติดบ่วงขาลงเหลือราคาต่ำบาทละ 17,500 บ.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิจัยทองคำ ส่งซิกปี′59 ราคาทองติดอยู่ก้นเหว มีลุ้นไต่ขึ้นมาแกว่งตัวกรอบกว้าง 1,000-1,350 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน-สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย เผยสถิติช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ติดบ่วงวัฏจักรขาลงยาวนานสุดส่วนทองในไทยคาดราคาอยู่ที่บาทละ 17,500-21,500 บาท


นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ในช่วงเวลากว่า 4 ปี(2554-2558) จากสูงสุดที่ระดับ 1,920 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2544 ได้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 1,077 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในปัจจุบัน ซึ่งราคาทองคำที่ปรับตัวลงดังกล่าว เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐที่ได้หันมาใช้มาตรการทางเงินเชิงปริมาณ (QE) เป็นเวลานาน จนส่งผลให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ต่อมามีการยุติมาตรการทางการเงินดังกล่าว และเริ่มจะหันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อราคาทองคำปรับตัวลดลง

"ทองคำในรอบนี้อยู่ใน Cycle (วัฏจักร) ขาลงถึง 4 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากที่สุดในช่วง 40-50 ปี เพราะวัฏจักรขาลงรอบก่อนหน้านี้ ก็ปรับตัวลดลงไม่นานโดยมีระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะปัจจัยเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และคาดว่าการปรับตัวลดลงของราคาทองจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนี้ไปได้อีก" นายกมลธัญกล่าว

โดยประเมินว่าในปี 2559 ราคาทองยังคงอยู่ในช่วงขาลง โดยมีกรอบการแกว่งตัวประมาณ 1,000-1,350 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่บาทละ 17,500-21,500 บาท ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก จะทำให้ราคาทองได้รับแรงกดดันจนปรับตัวลดลง (ตามกรอบที่คาดการณ์) และหลังจากที่ปัจจัยลบหลักได้คลี่คลาย ประเมินว่าราคาทองมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ "เก็งกำไรระยะสั้น" ไม่เกิน 1-2 เดือน โดยควรซื้อสะสมเมื่อราคาทองคำปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณบาทละ 18,500 บาท และทยอยขายเมื่อราคาปรับเพิ่มขึ้นมาที่บาทละ 19,500 บาท ซึ่งในปีหน้าราคาทองคำน่าจะสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 5% สูงขึ้นจากปีนี้ (ต้นปีจนถึงปัจจุบัน) ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 1% ส่วนนักลงทุนที่ต้องการ "ซื้อระยะยาว" แนะนำให้ซื้อทองสะสมเพิ่มสัดส่วนเป็น 15-20% ของพอร์ต จากปีนี้ที่แนะนำให้ถือสัดส่วน 10% ของพอร์ต

นายกมลธัญกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ เดือน พ.ย. 2558 ว่า ดัชนีฯได้ปรับตัวลดลง 8.16 จุด หรือลดลง 15.86% สู่ระดับ 43.31 จุด ถือเป็นมุมมองเชิงลบ เนื่องจากต่ำกว่าระดับ 50 จุด (ค่าดัชนีความเชื่อมั่นวัดจากระดับ 0-100 จุด) โดยเป็นผลจากการคาดการณ์ในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่ากดดันเงินบาทอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความกังวลจากปัจจัยเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ มองว่าหากเศรษฐกิจจีนเติบโตไม่ถึงเป้าหมาย จะส่งผลกระทบต่อความต้องการทองคำจากฝั่งจีน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 5.83 จุด หรือ 13.08% อยู่ที่ 50.41 จุด เนื่องจากราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้มีโอกาสฟื้นตัวในระยะถัดไป และเชื่อว่าความต้องการที่มาจากเทศกาลต่าง ๆ ในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จะช่วยผลักดันราคาทองคำฟื้นตัวได้

โดยผู้ค้าทองคำ มองราคาทองสูงสุดที่ 1,160-1,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และกรอบต่ำสุดอยู่ที่ 1,080-1,140 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศ ให้กรอบสูงสุดบาทละ 19,500-20,500 บาท และกรอบต่ำสุด 18,000-19,000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook