เจาะเส้นทางกะหล่ำปลี 400ล้าน "ภูทับเบิก" ม้งยึดพื้นที่ปลูกหมื่นไร่ ใหญ่สุดเมืองไทย!

เจาะเส้นทางกะหล่ำปลี 400ล้าน "ภูทับเบิก" ม้งยึดพื้นที่ปลูกหมื่นไร่ ใหญ่สุดเมืองไทย!

เจาะเส้นทางกะหล่ำปลี 400ล้าน "ภูทับเบิก" ม้งยึดพื้นที่ปลูกหมื่นไร่ ใหญ่สุดเมืองไทย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชื่อเสียงของ "ภูทับเบิก" ติดลมบนไปแล้วในฐานะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ที่นี่ยังเป็นหุบเขากะหล่ำปลีนับหมื่นไร่ ป้อนผลผลิตให้คนไทยได้บริโภคตลอดทั้งปีอีกด้วย

"กะหล่ำปลี" ถือเป็นผักคู่ครัวไทย เพราะราคาไม่แพงเกินไป สามารถนำมาทำอาหารหลากหลายเมนู และยังเป็นเครื่องเคียง กินแกล้มกับอาหารจานหลัก ส่วนเมนูยอดนิยมของคนเมือง และภัตตาคารก็คือ กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา สนนราคาอยู่ที่จานละ 100 กว่าบาท นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เพชรบูรณ์ไม่น้อยทีเดียว


กะหล่ำทำเงินปีละกว่า 400 ล้าน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีทั้งประเทศ 69,108 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 248,440 ตัน ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า ปี 2557 จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี 19,256 ไร่ ให้ผลผลิตราว 1.5 แสนตัน หรือให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 8 ตัน ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงเกินครึ่งของทั้งประเทศ

จังหวัดเพชรบูรณ์จึงกลายเป็นแหล่งผลิตกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุด โดยแหล่งปลูกสำคัญอยู่บนพื้นที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีมากถึง 6,000 ไร่ ปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง รวมทั้งปีประมาณ 12,000 ไร่ ให้ผลผลิตราว 9.6 หมื่นตัน

ผู้ปลูกส่วนใหญ่ก็คือ ชาวม้งบนภูทับเบิก เพราะกะหล่ำปลีจะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งวิถีการค้าของชาวม้งจะลงทุนปลูกเอง และเก็บผลผลิต นำมาแพ็กใส่ถุงพลาสติก ถุงละ 10 กิโลกรัม แล้วนำไปเรียงจนเต็มคันรถกระบะได้คราวละ 1 ตัน ก่อนที่จะลำเลียงลงจากเขา มุ่งตรงมาที่ตลาดกลางผักและผลไม้ จังหวัดเพชรบูรณ์ (ตลาดสันติสุข) ตั้งอยู่บริเวณแยกหล่มสัก เพื่อขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่คอยรับซื้อไปขายปลีกต่อไป

ในแต่ละวันบรรยากาศการซื้อขายผักเป็นไปอย่างคึกคัก พ่อค้าแม่ค้าจะจอดรถบรรทุกตามล็อก เพื่อรอซื้อผักในรถของเกษตรกรที่วิ่งเข้ามาในตลาด หากพบว่ารถคันไหนมีชนิดผัก และปริมาณที่ต้องการ ก็จะส่งคนเข้าประชิด เพื่อเจรจาต่อรองราคา หากพอใจก็ตกลงซื้อขายกันทันที โดยราคาผักชนิดต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล สำหรับกะหล่ำปลีจากภูทับเบิกขายส่งอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 4-20 บาท

หากคำนวณรายได้จากการจำหน่ายกะหล่ำปลีของภูทับเบิกที่ราคา 4 บาท/กก. จากปริมาณผลผลิตราว 9.6 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 384 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันราคาขายปลีกที่ตลาดไท อยู่ที่ประมาณ 10 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 960 ล้านบาท


ภูทับเบิกเมืองกะหล่ำ 1.2 หมื่นไร่

"ชัยพร คงสาคร" เกษตรอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พื้นที่ภูทับเบิกมีการปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถปลูกได้ทั้งปี จากการสำรวจพบว่าปีนี้มีไร่กะหล่ำปลีประมาณ 12,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 8 ตัน ขณะที่พื้นราบจะปลูกได้แค่ครั้งเดียว

"บนภูทับเบิกสามารถปลูกกะหล่ำได้ทั้งปี เฉลี่ยปีละ 2-3 รอบ แต่หากมีน้ำดี ๆ บางคนทำได้มากที่สุด 4 รอบ ใช้วิธีนำสายยางต่อน้ำจากภูเขาอีกลูกที่ห่างกัน 7-8 กิโลเมตร มาใส่ไว้ในบ่อเพื่อใช้รดกะหล่ำปลี เมื่อมีอายุ 70 กว่าวันก็สามารถตัดขายได้ จากนั้นพักดินอีกเกือบ 1 เดือน แต่บางช่วงที่ราคาดีเกษตรกรจะเร่งปลูกโดยพักดินแค่ 1-2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นก็จะเพาะต้นกล้าไว้ในหลุมกระบะเพื่อปลูก"

ส่วนเรื่องราคานั้น เกษตรอำเภอหล่มเก่าบอกว่า ขึ้นอยู่กับฤดูกาล บางฤดูที่ผลผลิตล้นตลาด ราคาจะตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท แต่หากราคาดีบางครั้งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 20 บาท อย่างเช่นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 หรือหมู่บ้านภูทับเบิกใหม่ มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี 5 ไร่ มีคนมาเหมาในราคา 6 แสนบาท เพราะเป็นช่วงที่พื้นที่อื่นไม่มีกะหล่ำ

คุมใช้สารเคมีหนุนปลอดภัย

ปัจจุบันการปลูกกะหล่ำปลีบนภูทับเบิกกรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์ให้มีการผลิตผักแบบปลอดภัยคือสามารถใช้สารเคมีได้ในปริมาณที่จำกัด โดยวางเป้าหมายเกษตรกรปีละ 300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน แต่ละกลุ่มให้คัดเลือกแกนนำมา 1 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน เพื่อมาอบรม 9 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่จะอบรมถ่ายทอดเรื่องผักปลอดภัย การใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือ บีที ไตรโครเดอร์มา เพื่อฉีดราดผักแทนสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อหนอน แต่ไม่อันตรายต่อคน นอกจากนั้นยังเรียนรู้แมลงชนิดต่าง ๆ ว่าชนิดใดร้าย หรือชนิดใดดี เพื่อกลับไปถ่ายทอดให้ลูกทีมต่อไป

"ถ้าผักใครมีสารตกค้าง ใครที่ฉีดยามากไป ต่อไปหากไทยเข้าสู่เออีซี การค้าเสรีแล้ว ผักเราจะขายไม่ได้ เราจึงต้องคุมมาตรฐานความปลอดภัยให้ได้ ตรงนี้เป็นการเริ่มทำที่ต้นน้ำ จากนั้นกลางน้ำ ปลายน้ำ เราฝึกให้เขารู้จักรวมกลุ่ม ซื้อ-ขาย เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ในรูปสหกรณ์"

นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วย อาทิ สาธารณสุขอำเภอมาตรวจเลือด กรมวิชาการเกษตรมาทำเรื่องมาตรฐาน GAP สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสอนให้ทำบัญชี และพัฒนาปรับปรุงดิน ส่วนพาณิชย์จะช่วยเรื่องตลาด โดยต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้พาตัวแทนม้ง ไปดูตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง ราชบุรี เพื่อหาตลาด เนื่องจากรถผักไม่สามารถเข้าไปขายได้ โดยไม่มีคู่ค้า

แยก "หล่มสัก" แหล่งซื้อขายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ตลาดใหญ่ที่สุดของกะหล่ำปลีจากภูทับเบิก คือ ตลาดสันติสุข บริเวณแยกหล่มสัก ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายต่างก็มีพ่อค้าแม่ค้าประจำที่คอยรับซื้อผลผลิตจากไร่ โดยราคาจะขึ้นลงไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือ ขายหมดคันรถทุกครั้ง

"จิตรา จรัสวชิรกุล" ผู้จัดการตลาดกลางผัก และผลไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือตลาดสันติสุข เปิดเผยว่า ตลาดแห่งนี้เปิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ถือเป็นตลาดผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีผักเกือบทุกชนิดค้าขายกันทุกวัน โดยเฉลี่ยจะมีรถขนผักเข้ามาที่ตลาดวันละประมาณ 300 คัน ทั้งคันเล็ก และใหญ่ โดยตลาดจะเก็บค่าเข้าคันละ 20-60 บาท/เที่ยว ขึ้นอยู่กับขนาดของรถ โดยรถขนผักที่เข้ามาตลาด 80% เป็นรถในพื้นที่ ส่วนอีก 20% มาจากนอกพื้นที่ อาทิ จังหวัดตาก เชียงใหม่ เป็นต้น

ขณะที่ผักและผลไม้เหล่านี้ จะกระจายไปตามตลาดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดที่ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา ชลบุรี และบรรทุกไปขายถึงภาคใต้

"รถที่มาจอดในตลาด สามารถขนผักได้ประมาณ 2-2.5 ตัน ถ้าเป็นรถคันเล็กจะบรรทุกได้เฉลี่ยคันละ 1 ตัน แต่ละวันมีรถเข้ามาประมาณ 300 คัน โดยเฉลี่ยผักจะออกจากตลาดวันละ 300-500 ตัน ซึ่งคาดว่ามีปริมาณครึ่งหนึ่งของผักทั้งประเทศ ตลาดแห่งนี้น่าจะใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ที่สำคัญคือเพชรบูรณ์มีความหลากหลายของผักเยอะกว่าที่อื่น และผลผลิตออกทั้งปี ตลาดจึงคึกคักทุกวัน"

จิตราบอกอีกว่า ช่วงที่ผักราคาแพงคือ ช่วงเทศกาลกินเจ ราคากะหล่ำปลีเคยขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 10-20 บาท แต่ช่วงนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 3-4 บาท ทั้งนี้ตลาดไม่สามารถกำหนดราคาได้ อยู่ที่การตกลงกันเองระหว่างเกษตรกรกับพ่อค้าแม่ค้า

นี่คือเส้นทางของธุรกิจกะหล่ำปลีจากดอยสูงภูทับเบิก ก่อนที่จะกระจายผลผลิตไปสู่ก้นครัวทั่วไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook