2 ขั้นตอนการสร้างระบบออมอัตโนมัติ
อภินิหารเงินออม AomMoney Guru
สาวหมวยอารมณ์ดี รักงานเขียนและการวางแผนการเงิน มีฝันที่อยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานรักการออม
ใครเคยพูดกับตัวเองแบบนี้บ้าง
“ เดือนนี้เราต้องออมเงินให้ได้ๆๆๆๆๆๆ ”
หลายคนอาจจะเคยอ่านกระทู้ออมเงินจากค่าอาหารกลางวันที่เก็บเงินเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็มีเงินออม หลายหมื่นบาท หรืออ่านบทความการออมเงินมาสารพัดรูปแบบ เห็นคนอื่นที่มีเงินเดือนหลักหมื่น แล้วเก็บเงินได้หลักล้าน!!
อ่านซึมซับแรงบันดาลใจไปสักพักใหญ่ๆ จนกระทั่งทำให้เราเริ่มมีแรงฮึดสู้ในใจว่า “ฮึ ฮึ คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน” พร้อมกับยกมือขวาขึ้น ทำตาเป็นประกาย วิ้งๆ แล้วจินตนาการว่ากำลัง แหวกว่ายอยู่บนเงินกองโต บุ๋ม บุ๋มๆๆๆ
……..หลายเดือนผ่านไป……
ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ใช้จ่ายเงินเหมือนเดิม ไม่มีเงินออมเหมือนเดิม แต่ที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อยก็เริ่ม มีกองทัพหนี้สินเกิดขึ้น เหตุผลส่วนใหญ่ คือ พอเริ่มออมเงินได้เงินมาก้อนนึงก็ต้องมีเหตุบังเอิญใช้เงินทุกที สุดท้ายความตั้งใจที่จะต้องออมเงินให้ได้ก็หายวับไป
“ ถ้าเราบังคับใจตนเองไม่ได้ ก็ต้องใช้ระบบเข้าช่วย ”
การตั้งระบบออมอัตโนมัตินี้จะช่วยทำให้เรื่องการออมเงินนั้นง่ายขึ้น เพราะเราไม่ต้องมาเตือนตัวเอง ทุกเดือนว่าต้องถอนเงินออกจากบัญชีเงินเดือน เพื่อนำไปเก็บในบัญชีออมเงินด้วยตนเองทุกเดือน เพราะบางเดือนเราอาจจะทำงานยุ่งมากจนลืม หรืออาจจะรู้สึกฝืนใจตนเองที่เห็นเงินในบัญชีแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งตอนนี้อุปสรรคในการออมเงินจะหมดไป ถ้าเราทำให้เป็นระบบการออมอัตโนมัตินะจ๊ะ
2 ขั้นตอนการสร้างระบบออมอัตโนมัติ
1เปิดบัญชีธนาคารออนไลน์
ตอนนี้ธนาคารส่วนใหญ่ก็มีธนาคารออนไลน์หรือที่เรียกสั้นๆว่า e-banking ให้เราได้ใช้บริการกันแล้ว วิธีการสมัครง่ายมากๆ เช่น สมัครที่เคาน์เตอร์ธนาคาร สมัครที่ตู้ ATM ใช้เวลาไม่นานเราก็สามารถใช้บัญชี ธนาคารออนไลน์ได้แล้ว ซึ่งใช้งานได้ทั้งในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
เราสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ตลอดเวลา จะทำการโอน จ่าย ถอน ที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องเสี่ยงภัยที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารว่าจะไปฝากเงิน แต่ได้ประกันชีวิตกลับมาแบบงงๆ รวมถึงเราสามารถตั้งระบบออมเงินรายเดือนได้อีกด้วย
2. เชื่อมต่อธนาคารออนไลน์กับบัญชีเงินออม
สร้างแผนที่การเดินทางของเงินว่าแต่ละเดือนจะให้เงินเดือนของเราไปอยู่ในส่วนใดบ้าง โดยแบ่งหลักๆเป็น 3 บัญชี คือ บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินออมและบัญชีรายจ่าย แล้วเขียนว่าแต่ละเดือนจะต้องจ่ายกับส่วนไหน เท่าไหร่บ้างเพื่อจะได้เห็นภาพรวมของเงินได้ดียิ่งขึ้น เช่น
-หากมีเงินออมระยะสั้นมากเกินไปก็อาจจะสูญเสียโอกาสในการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างผลตอบ แทนให้สูงขึ้น ทำให้เราควรปรับสัดส่วนของเงินให้สมดุลกันทั้งในระยะสั้น กลางและยาว
-ถ้ามีหนี้สินระยะสั้นจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากเกินไป ก็เป็นการเตือนตัวเองเพื่อที่จะใช้บัตร ให้น้อยลง เพียงพอกับความสามารถในการชำระหนี้ได้
ตัวอย่างการเขียนเส้นทางการเงิน
เราสามารถใช้เทคโนโลยีสร้างระเบียบวินัยการออมและออกแบบระบบการจ่ายเงินให้ตนเองได้ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งวิธีการต่างๆเหล่านี้อาจจะยุ่งยากบ้างในช่วงแรกๆ แต่ถ้าทุกอย่างเข้าที่ เรามีหน้าที่เพียงตรวจดูภาพรวมว่าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายการเก็บเงินหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์
จะรออะไรอีกจ๊ะ เริ่มจัดระเบียบเงินออมกันเลย ^_^