ผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท
จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่องที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลายอย่างทั้งในตัวแรงงานเอง ที่ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องถูกปรับลดค่าโอที และสวัสดิการลง โดยที่ผู้ประกอบการใช้เป็นข้ออ้างเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ขณะที่มีนำไปเพิ่มราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย
ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาท ซึ่งเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 40 ทำให้โรงงานต่างๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ปรับลดสวัสดิการที่เคยให้แก่ลูกจ้าง เพื่อลดต้นทุนที่ปรับตัวสูง ขณะเดียวกันการปรับค่าจ้างในปีนี้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยเฉพาะการเรียกร้อง ขอขึ้นค่าจ้างสำหรับ กลุ่มลูกจ้างที่อยู่มานาน เพื่อให้ค่าจ้างห่างจากแรงงานใหม่ รวมถึงค่าโอที สวัสดิการ และโบนัส
นอกจากนี้ หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 แล้ว อาจมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะกระทบการจ้างงานในท้องถิ่นโดยตรง เพราะผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ จะย้ายฐานผลิตมาอยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ มากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน มีอยู่ร้อยละ 98 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 60 ที่ไม่อยู่ในระบบมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ที่จะมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปีนี้ และเหลือร้อยละ 20 ในปีหน้าหรือปี 2556 ทำให้เอสเอ็มอีร้อยละ 5.6 หรือ ประมาณ 100,000 ราย ทั่วประเทศอาจต้องปิดกิจการ เพราะไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้
ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศอาจลดลงร้อยละ 25 หากรัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เช่นธุรกิจดูแลรักษาความปลอดภัย และธุรกิจก่อสร้าง เพราะมีการทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง โดยคำนวณค่าแรงงาน ค่าบริการจัดการไว้เรียบร้อย แต่เมื่อปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถแก้ไขสัญญาการว่าจ้างได้ จึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้ว่าจ้างได้
ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าจ้างยังส่งผลกระทบ ต่อนักลงทุนเอสเอ็มอีต่างประเทศที่อยู่ในไทย ซึ่งอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วน ไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม และพม่า ซึ่งมีโครงสร้างค่าจ้าง ที่ต่ำกว่าไทยมาก
รวมถึงยังพบว่า มีหลายบริษัทที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการฝึกอบรมแรงงาน เนื่องจากมีการให้ค่าจ้างในกลุ่มฝีมือแรงงานเฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000 บาท ต่างจากเมืองไทยที่กลุ่มฝีมือแรงงานเฉลี่ยที่ 400-700 บาทต่อวัน ทำให้อนาคตแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอาจเข้ามาทำงานในไทยน้อยลง
ด้านธุรกิจโรงแรม อาจต้องลดจำนวนแรงงาน เพื่อควบคุมต้นทุน ซึ่งจะเห็นผลกระทบชัดเจน ในกลุ่มโรงแรมในภาคเหนือ อย่างจังหวัดน่าน และพะเยา ที่ปัจจุบันจ่ายค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 160 บาท รวมถึงโรงแรมในกรุงเทพฯ ก็จะได้รับผลกระทบ เพราะค่าแรงอยู่ที่ร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ โรงแรมที่มีผลประกอบการต่ำ อาจตัดสินใจปิดกิจการ หรือขายธุรกิจ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนราว 3,000-4,000 แห่ง ทั่วประเทศ ขณะที่แรงงานโดยรวมของอุตสาหกรรมโรงแรมทั้งระบบมีประมาณกว่า 500,000 คน
ส่วนข้อสรุปเซอร์วิสชาร์จ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้สรุปความชัดเจน เรื่องการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำแล้วซึ่งมี 2 วิธีที่โรงแรมเลือกบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานคือ การแยกเซอร์วิสชาร์จ ไม่นำไปเสียภาษี ก็จะไม่สามารถนำไปคำนวณเป็นค่าแรงขั้นต่ำได้ หรือการนำเซอร์วิสชาร์จเข้ามารวมเป็นรายได้ มีการกำหนดอัตราที่แน่นอน เช่นรับประกันเดือนละ 3,000 บาท และนำไปเสียภาษี วิธีนี้จะสามารถนำไปคำนวณรวมเป็นค่าแรงขั้นต่ำได้