ธนาคารเซเว่น คู่แข่งหน้าใหม่
คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ขณะที่นายแบงก์ทั้งหลายต่างเตรียมรับมือกับการรุกคืบเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างจุดเปลี่ยนของธุรกิจการเงินในอนาคต
เช่นที่ "ญนน์ โภคทรัพย์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจการเงินกำลังเดินเข้าสู่สิ่งใหม่ที่ไม่รู้จักมากขึ้น มีคู่แข่งหน้าใหม่เกิดขึ้นที่พร้อมจะเข้ามาเป็น "ตาอยู่" ช่วงชิงตลาดด้วยรูปแบบใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจการเงินอย่างรวดเร็ว
แม้ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ดิจิทัลจะสร้างจุดเปลี่ยนให้โลกการเงินใบใหม่อย่างไร
และหนึ่งในผลพวงจากการเข้ามาของยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ คือ การที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต่างชะลอหรือหยุดการขยายสาขา
"บุญทักษ์ หวังเจริญ" ประธานสมาคมธนาคารไทยยอมรับว่า ปัจจุบันบทบาทของสาขาธนาคารลดลง เพราะระบบดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและแย่งงาน ทำให้แนวโน้มการขยายสาขาของธนาคารชะลอตัวลง หรือบางแห่งก็ถึงขั้นลดสาขาหรือปรับเปลี่ยนบทบาท
เนื่องจากปัจจุบันสาขาส่วนใหญ่กว่า 70% มีหน้าที่ทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงินต่าง ๆ ซึ่งบริการรูปแบบดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งหรือโมบายแบงกิ้ง สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวทดแทนสาขาธนาคารได้ แถมสะดวกง่ายดายกว่า ดังนั้น บทบาทสาขาอาจต้องเปลี่ยนไปทำธุรกรรมในด้านการให้คำปรึกษา การลงทุน และบริการสินเชื่อต่าง ๆ มากกว่า
นอกจากนี้ "บุญทักษ์" ย้ำว่า อนาคตหากจะเห็นธนาคารปิดสาขาก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอย่างธนาคารทหารไทยปีหน้าก็ไม่มีแผนการขยายสาขาเพิ่ม
ขณะเดียวกัน ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่นล่าสุด 3 ยักษ์มือถือทั้ง "เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค" ได้ประกาศความร่วมมือให้บริการโอนเงินผ่านมือถือแบบข้ามค่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบของธนาคาร
เป็นการโอนเงินผ่านแอปของค่ายมือถือเพียงใส่จำนวนเงินที่ต้องการโอนพิมพ์หมายเลขผู้รับเงินหรือเลือกจากรายชื่อผู้ติดต่อ และยืนยันข้อมูล เท่านี้ก็สามารถโอนเงินได้แล้ว
ขณะที่ลูกค้าในมือของ 3 ค่ายมือถือรวมกันกว่า 90 ล้านเลขหมาย ถือเป็นช่องทางแห่งโอกาสและทรงพลัง
สะท้อนจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงินที่ไม่เหมือนเดิม
และนอกจากค่ายมือถือที่เข้ามาเอี่ยวแล้วนัยว่ายังมีคู่แข่งหน้าใหม่จากธุรกิจอื่นที่พร้อมโดดเข้ามา
อย่างเช่นร้านสะดวกซื้อ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินโดยเปิด "ธนาคารเซเว่น" ให้บริการทางการเงิน โดยใช้ตู้เอทีเอ็มเซเว่นเป็นช่องทางบริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีเงินฝาก โอนเงิน หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินในมูลค่าไม่สูง
นอกจากนี้ ธนาคารเซเว่นได้เปิดบริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านแอป Seven Bank อำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่ไปทำงานในญี่ปุ่น หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น
โดยสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านตู้เอทีเอ็มเซเว่น ซึ่งมีมากกว่า 15,000 ตู้ทั่วประเทศ ตั้งอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อาคารพาณิชย์ และสนามบินต่าง ๆ
และที่พิเศษคือแอปของธนาคารเซเว่น รวมถึงตู้เอทีเอ็มเซเว่น มีภาษาให้เลือกถึง 9 ภาษา ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, จีน, อังกฤษ, โปรตุเกส, สเปน, ตากาล็อก, อินโดนีเซีย, เวียดนาม รวมทั้งภาษาไทย เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติ
ด้วยจุดขายโอนเงินได้ตลอดเวลาที่คุณต้องการ ! ด้วยค่าธรรมเนียมการโอนถูกกว่าการโอนผ่านธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
นี่คืออีกหนึ่งโฉมหน้าของผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจการเงิน ที่คงมีเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต