เจาะขุมทรัพย์ ทีซีซีแลนด์ 3 แสนไร่ ผุดโอท็อปไฮเวย์-ห้างในเมือง 24 ชม.

เจาะขุมทรัพย์ ทีซีซีแลนด์ 3 แสนไร่ ผุดโอท็อปไฮเวย์-ห้างในเมือง 24 ชม.

เจาะขุมทรัพย์ ทีซีซีแลนด์ 3 แสนไร่ ผุดโอท็อปไฮเวย์-ห้างในเมือง 24 ชม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัมภาษณ์

"เบียร์ช้าง" หรือไทยเบฟเวอเรจ หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย แตกไลน์จับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนามกลุ่มทีซีซีแลนด์ และขยายทัพไปสู่ธุรกิจศูนย์การค้าเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมี "ณภัทร เจริญกุล" กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เป็นผู้นำการเติบโต ตั้งเป้าเทเม็ดเงินอีก 1 หมื่นล้านบาทเพื่อเปิดศูนย์การค้าให้ครบ 22 แห่งในไทยภายใน 5 ปีจากนี้

- จัดระเบียบแบรนด์ใหม่

หนึ่งปีที่ผ่านมา ทีซีซีไม่ได้ลงทุนเปิดศูนย์การค้าเพิ่มเลยเพราะอยู่ระหว่างการจัดระเบียบแบรนด์ที่มีอยู่ ตอนนี้บริษัทดูแล 5 แบรนด์ คือ เอเชียทีคเกตเวย์ เซ็นเตอร์พอยท์ พันธุ์ทิพย์ และบ็อกซ์ สเปซ ซึ่งต้องมีเยอะขนาดนี้เพราะไทยเบฟฯมีแลนด์แบงก์ในมือกว่า 3 แสนไร่ จึงต้องมีศูนย์การค้าหลายแพลตฟอร์มที่จะตอบโจทย์

แต่ละแบรนด์เราได้ตกผลึก สร้างโปรโตไทป์ขึ้นมา อย่างบ็อกซ์ สเปซที่เป็นแบรนด์ใหม่ก็จะเปิดที่แรกที่รัชโยธินเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ก็เป็นการรีแบรนด์ใหม่ และปรับปรุงเกตเวย์ เอกมัย กับพันธุ์ทิพย์ สาขาแรกที่ประตูน้ำและอีก 1 แบรนด์ที่บริษัทจะพัฒนาเพิ่มคือ "ไฮเวย์" ลักษณะจะเป็นจุดพักริมทางหลวงแบบอินดอร์ มีร้านอาหารและร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป และอาจจะมีโรงแรมขนาดเล็กด้วย

- แผนงานธุรกิจรีเทล 5 ปี

เราตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ขายรวมจาก 1.5 แสน ตร.ม. เป็น 3.5 แสน ตร.ม. ซึ่งจะทำให้ได้รายได้เพิ่มจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 5,000-6,000 ล้านบาท และกำไรเพิ่มจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,500 ล้านบาท ดังนั้นจะใช้งบประมาณลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ครบ 5 ปี แต่ละแบรนด์จะขยายสาขา คือ "เอเชียทีค" เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่เจริญกรุง จะเพิ่มเฟส 2-3 และเพิ่มสาขาพัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย "เกตเวย์" เอกมัย จะเพิ่มอีก 2 สาขาใน กทม.ตามแนวรถไฟฟ้า "บ็อกซ์ สเปซ" แห่งแรกที่รัชโยธิน ปีหน้าจะขยายไปที่ ถ.สรรพาวุธและบางนา

"พันธุ์ทิพย์" จะไม่ขยายเพิ่มแต่จะปรับปรุงทั้ง 4 แห่งในประตูน้ำ งามวงศ์วาน บางกะปิ เชียงใหม่ ส่วน "เซ็นเตอร์พอยท์" เป็นแบรนด์เดียวที่ขยายสาขาไม่ได้ เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ

ด้านแบรนด์ใหม่คือ "ไฮเวย์" วางแผนไว้ว่าจะเปิด 5 สาขา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นถนนเส้นไหน แต่ไทยเบฟฯคัดเลือกแปลงมาแล้วประมาณ 10 แปลง คาดว่าสาขาแรกจะได้เห็นปี 2559-2560 สรุปรวมแล้ว 5 ปี ทีซีซีแลนด์จะมีศูนย์การค้าอย่างน้อย 22 แห่ง

- จุดขายหนีคู่แข่งในตลาด

ทีซีซีมองตัวเองเป็นน้องใหม่ในวงการรีเทล เพิ่งจะเข้ามาได้ 3-4 ปี เราไม่ได้ต้องการไปชนกับยักษ์ใหญ่ในตลาด แต่เราหาจุดยืนจากการสร้างสิ่งที่แตกต่าง เป็นบลูโอเชี่ยน

อย่างเอเชียทีคเป็นแบรนด์ไนต์มาร์เก็ตที่จับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นได้ว่าสาขาที่ขยายไปจะเป็นเมืองท่องเที่ยวเกตเวย์ก็เป็นห้างสรรพสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องมีดีพาร์ตเมนต์สโตร์และลงทำเลที่ตลาดเล็กห้างใหญ่จะไม่กล้าเปิด พันธุ์ทิพย์เป็นศูนย์ไอที ส่วนบ็อกซ์ สเปซ เปรียบเหมือนหลานของเอเชียทีคเพราะเป็นไนต์มาร์เก็ตเอาต์ดอร์ มีร้านค้าปลีก ร้านอาหารแฮงเอาต์ แต่จะจับกลุ่มคนไทย วางตัวเองไว้ที่ตลาดกลางระหว่างเจ้าใหญ่ระดับบนกับตลาดนัดรถไฟที่กำลังมาแรง

และเรามองว่าเราเป็นทีมงานที่ไม่นั่งโต๊ะแต่ลงพื้นที่จริง ไปดูให้เห็นชัดว่าทำไมลูกค้าเข้าศูนย์หรือไม่เข้า แล้วก็คิดให้ตรงเป้าสิ่งที่ลูกค้าต้องการ อย่างตอนนี้เกตเวย์ เอกมัยที่นำมาปรับปรุงใหม่เมื่อ 6 เดือนก่อน ทุกคนพูดว่าห้างเจ๊งไปแล้ว แต่เราทำให้คนกลับมาได้ จาก 6 เดือนก่อนมี 7,000 คน/วัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นคน/วัน

- มองตลาดต่างจังหวัด

ตอนนี้ที่อยู่ในแผนคือ 5 จังหวัดเมืองท่องเที่ยวที่จะเปิดแบรนด์เอเชียทีค และแบรนด์ไฮเวย์ที่จะอยู่ริมทางหลวงต่างจังหวัดส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สามารถใช้แบรนด์บ็อกซ์ สเปซได้ แต่ยังไม่มีแผนลงทุนขณะนี้

- ภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต

ภาวะเศรษฐกิจอาจจะมีสะดุดบ้าง แต่รีเทลน่าจะยังไปได้ดีอยู่ เพราะไลฟ์สไตล์คนจะเน้นซื้อสินค้ามากขึ้น ดังนั้นไม่กังวลและเออีซีที่กำลังจะเปิดจะเป็นจุดเปลี่ยนให้มีคนเข้ามาเยอะขึ้น นักท่องเที่ยวทุกวันนี้เยอะอยู่แล้ว อย่างเอเชียทีคมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจากปีก่อน 20% และมีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาคืออินโดนีเซีย ซึ่งเกิดจากเราไปทำตลาดโรดโชว์และประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อกเกอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook