เฉลียว อยู่วิทยา ชีวิตสมถะกับธุรกิจแสนล้าน
การเสียชีวิตของนายเฉลียว อยู่วิทยาผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มกระทิงแดงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (17 มีนาคม 2555)
ทำให้ตลอดทั้งวัน สื่อมวลชนพยายามนำเสนอแง่มุมชีวิตของเศรษฐีแสนล้านคนนี้ ซึ่งแทบจะนับครั้งได้ ที่เขาจะปรากฎตัวในแวดวงสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สมถะและจริงจังในการทำงาน
นิตยสารฟอร์บส์เพิ่งจัดอันดับเศรษฐีระดับโลกประจำปี 2554 ไปเมื่อไม่นานที่ผ่านมา
ชื่อนายเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของแบรนด์ดังกระทิงแดงหรือเรดบูล ก็อยู่ในอันดับ 205 และรวยเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย หรือมีมูลค่าทรัพย์สิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 แสนล้านบาท
นายเฉลียว รวยติดอันดับโลกมาตั้งแต่ปี 2546 โดยขณะนั้นเขาอยู่ในอันดับ 386 และไต่อันดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงอันดับ 205
กระทิงแดง ยังเป็นสินค้าของคนไทย เพียงไม่กี่แบรนด์ที่คนค่อนโลกรู้จักและให้ความนิยม จนแบรนด์กระทิงแดงหรือเรดบูล แตกแขนงไปหลายช่องทาง
แต่สำหรับตัวตนของเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าพ่อกระทิงแดงแทบไม่เป็นที่รู้จักมากนักของผู้คนในสังคม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เปิดเผยประวัติของนายเฉลียว อยู่วิทยาหลังการสูญเสียครั้งนี้ว่า นายเฉลียว อยู่วิทยา หรือ โกเหลียว นั้นเกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2466 ที่ จังหวัดพิจิตร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนพิจิตรวิทยาคม จากนั้นเดินทางเข้าสู่กรุงเทพ ไปช่วยพี่ชายทำงานร้านขายยา เป็นเซลส์แมนขายยา"ออริโอมัยซิน"ก่อนลาออกมาเป็นตัวแทนนำเข้ายามาจำหน่ายเองและตั้งโรงงานผสมยา
ต่อมาตั้งบริษัททีซีมัยซินโดยช่วงแรกผลิตแห้วแทตทู,ยาเด็กเบบี้ดอล ก่อนจะมาเครื่องดื่มกระทิงแดง
ส่วนประวัติทางการเมืองนั้น นายเฉลียว เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2531,เป็นกรรมาธิการการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และสมาชิกวุฒิสภา ปี2532เป็น และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารและยาของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2526
และอีก 1 ปีต่อมา คือในปี 2527 นายเฉลียว ขยายธุรกิจกระทิงแดงสู่ต่างประเทศ โดยลงทุนร่วมกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. ในประเทศออสเตรียโดยนายเฉลียวถือหุ้น 49% และนายเฉลิม ลูกชายถือหุ้นอีก 2% ผลิตและวางจำหน่ายกระทิงแดงในยุโรป ภายใต้ยี่ห้อ เรดบูล และส่งไปขายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่นางสาวสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ลูกสาวคนโตของเฉลียวอยู่วิทยา เคยให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์ถึงธุรกิจของกระทิงแดงและเรดบูล โดยเธอได้ชื่อว่าเป็นทายาทที่ถอดแบบของ เฉลียว อยู่วิทยา มาเกือบทั้งหมดทั้งการใช้ชีวิตและแนวคิดทางธุรกิจ
เธอพูดถึงป๋าหรือพ่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จากบริษัทเล็กๆที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คนจนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับพันคน
โดยนายเฉลียว เป็นผู้ออกแบบโลโก้ของสินค้าเอง เพราะเห็นว่าแปลกไม่ซ้ำกับแบบของใครและให้ความหมายที่ดีในแง่ของพลังงานเขาจึงยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ในปี 2516 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 50 ปี
ส่วนวิธีการทำการตลาดในช่วงแรกของกระทิงแดงเฉลียว ใช้วิธีแจกฟรีให้กับคนขับรถบรรทุกได้ชิม การตลาดแบบถึงลูกถึงคนและใจถึงใจทำให้กระทิงแดง เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เธอพูดถึงพ่อว่าทั้งเนื้อทั้งตัวของป๋าไม่มีเครื่องประดับอื่น นอกจากนาฬิกาเรือนเดียว ยี่ห้อราโด้ เสื้อผ้าก็ไม่ยอมซื้อไม่พกเงิน โดยชีวิตประจำวันจะเริ่มจากการขี่จักรยานตอนเช้า ใส่เสื้อตัวเดียวนุ่งกางเกงแพร ใส่หมวกงอบแล้วขี่จักรยานวนไปรอบโรงงานเจออะไรไม่เรียบร้อยก็จะแวะเข้าไปตรวจดู
จนมีเรื่องตลกครั้งหนึ่งว่า มียามหน้าใหม่ที่ไม่รู้จัก เฉลียว อยู่วิทยา เมื่อเห็นลุงแก่ๆขี่จักรยานเข้ามาในโรงงานซึ่งเป็นเขตคนนอกห้ามเข้า เขาจึงตะโกนห้ามแต่มียามเก่าแก่สะกิดบอก จึงทำให้ยามใหม่ถึงกับหน้าถอดสี
นอกจากนี้ยังเคยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เสนอมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่เขา เจ้าสัวเฉลียวปฏิเสธโดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะเขาไม่ได้ร่ำเรียนมา การรับปริญญาจึงเป็นการเอาเปรียบคนที่ร่ำเรียนมา ซึ่งปรัชญาในการทำงานที่เรียบง่าย แต่จริงจังเหล่านี้ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ถ่ายทอดมาจนถึงทายาทในรุ่นปัจจุบัน
คลิกอ่าน >>> เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าพ่อกระทิงแดง เสียชีวิตแล้ว!