24 เจ้าสัวบริษัทยักษ์ช่วยรัฐบาล "ซีพี-เอสซีจี" ให้ฝึกงาน ห้างดังรับ SME ขายในห้าง
วานนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำนักธุรกิจ 24 รายใหญ่ของไทย อาทิ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาหารือกันประมาณ 3 ชั่วโมง
ด้านนายสมคิดกล่าวว่า นายกฯได้ขอบคุณภาคเอกชนที่มาร่วมปฏิญาณอุดรธานี เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2559 ให้ได้ 4% หลังจากนั้นนายกฯ ได้เล่าให้ฟังถึงการเดินทางไปต่างประเทศและการปฏิรูปว่าจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งได้มีการขอให้ภาคเอกชนเข้าช่วยรัฐใน 3 เรื่อง 1.การพัฒนาคน ในเรื่องการศึกษา 2.การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเจริญจากพื้นฐานภายในประเทศ 3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ลำพัง ต้องอาศัยภาคเอกชน
นายสมคิดกล่าวว่า ในเวทีนี้ภาคเอกชนพูดทุกคน เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า พร้อมจะช่วยเรื่องการศึกษา โดยยินดีนำมหาวิทยาลัยในสังกัดมาช่วย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงาน เรียนรู้จากของจริง ส่วนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะรับนักศึกษาฝึกงานเช่นกัน ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอมอี) เดอะมอลล์กรุ๊ป และกลุ่มเซ็นทรัล พร้อมที่จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอี ด้วยการนำสินค้าไปขายในห้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์
ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากจะช่วยให้เอสเอ็มอีนำสินค้ามาขายในปั๊มแล้ว จะมีทีมงานพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ช่วยด้วย ส่วนบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด จะเป็นแกนนำพัฒนาบ้านคนจน
"นายกฯ ได้มอบหมายให้ผมเป็นแกนภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นแกนนำภาคเอกชน ร่วมตั้งคณะกรรมการร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม" นายสมคิดกล่าว
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษาฯ กล่าวว่า ได้มีการหารือถึงการทำบ้านประชารัฐ หรือบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจากการเสนอรายละเอียดไปคาดว่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การสร้างบ้านจากการเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ จะให้สิทธิในการเช่าที่ดินระยะเวลา 50 ปี โดยภาคเอกชนจะสร้างอาคารชุดหรือคอนโดและขายในราคา 6 แสนบาท ขณะที่บ้านจัดสรร (ทาวน์เฮาส์) จะขายในราคา 9 แสนบาท
ส่วนที่ 2 คือการสร้างบ้านหรือคอนโดจากที่ดินภาคเอกชน ซึ่งจะราคาสูงกว่าบ้านจากการเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ เช่น ในส่วนของอาคารชุดหรือคอนโด จะขายในราคา 8 แสนบาท ซึ่งจะถูกกว่าราคาท้องตลาดที่ราคาอยู่ที่ 1.2-1.7 ล้านบาท ส่วนบ้านจัดสรรจะขายในราคา 1.2 ล้านบาท ถูกกว่าราคาตามท้องตลาดที่อยู่ที่ 1.5-2 ล้านบาท
"คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือนมีบ้านเป็นของตัวเองได้ จากเดิมที่จะต้องมีรายได้ 2 หมื่นบาทเป็นต้นไป ส่วนจำนวนบ้านที่จะสร้างนั้นขอรอนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐอีกครั้ง" นายทองมากล่าวและว่า แม้ภาคเอกชนจะขาดทุนบ้าง แต่หากได้เครดิตภาษีเข้ามาช่วย ก็จะเสมือนภาคเอกชนได้กำไรมา 10%
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการหารือกับนายกฯ ครั้งนี้ นักธุรกิจหลายรายที่แสดงความต้องการให้ภาครัฐช่วยพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น นางศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ที่แสดงความเห็นว่าหากภาครัฐสนับสนุนเรื่องดังกล่าวจะเป็นผลดีกับเรื่องของการท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกในประเทศไทยได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย โดยภาครัฐพร้อมรับข้อเสนอไปพิจารณา
"แนวทางการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยนั้น ภาคเอกชนส่วนใหญ่พร้อมเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาล เช่น การจำหน่ายสินค้าที่มีราคาถูก และเหมาะสม หรือการเข้ามาช่วยเหลือทางด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ด้านการศึกษา และการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่" นายบุญชัยกล่าว