ก.แรงงานเร่งขยายโอกาสอาชีพผู้สูงอายุ
กระทรวงแรงงาน เร่งขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงาน ผู้สูงอายุรับสังคมสูงอายุ 7 ปีข้างหน้า
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2/2558 ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อทำหน้าที่หลักในการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และส่งเสริม สนับสนุน การจ้างงานและอาชีพผู้สูงอายุ
รวมถึงติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในแนวทางการดำเนินงาน ส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพฯ เนื่องจาก ประเทศไทย ได้เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี 2548 สัดส่วนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และกำลังกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีมากถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า
และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
ด้าน นายปราโมทย์ ประสาทกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัยทางประชากรศาสตร์โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และคาดประมาณการว่า ประชากรกำลังสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ทำให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องปรับโครงสร้างอายุของประชาการ เพื่อให้คนไทยยังอยู่ในวัยแรงงานให้นานที่สุด
ด้วยการเปลี่ยนนิยามของผู้สูงอายุในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ด้วยการเพิ่มอายุผู้สูงอายุให้สูงขึ้นเป็น 65 ปี โดยการเลื่อนอายุต้องไม่กระทบกับสวัสดิการเดิมที่เคยได้รับ และควรแยกคำนิยาม หรือคำจำกัดความของคำว่า “ผู้สูงอายุ” และ “ผู้เกษียณอายุการทำงาน” ออกจากกัน โดยคำนึงถึงความต้องการประกอบอาชีพ ประเภทของอาชีพและความเหมาะสม