ภาษีและการบริหารการเงิน[ซีรีส์] ตอน ใครควรลงทุนใน LTF และลงทุนอย่างไร ?
ช่วงปลายปีแบบนี้ มีข้อเสนอข้อแนะนำการบริหารเงินเพื่อประโยชน์ทางภาษีกันมากมาย เพราะ เปิดศักราชใหม่มา ผู้มีเงินได้ต้องทำหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีตามหน้าที่กันแล้ว .. และ ข้อเสนอที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็คือ ....การเสนอแนะให้ลงทุนระยะยาวเพื่อได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะ การลงทุนใน กองทุน RMF และ LTF
การยกประเด็นการลงทุนในกองทุนแฝด RMF และ LTF เพื่อประโยชน์ทางภาษี ถูกยกแต่ประเด็นประโยชน์ทางภาษีจนบางครั้งละเลย ไปว่า แท้จริง กองทุน RMF และ LTF คือ การลงทุนประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ของการลงทุน และเงื่อนไขที่ต้องเรียนรู้ทั้งในเรื่องความเสี่ยง และ รู้ว่า การลงทุนในกองทุนแฝดนี้ผลตอบแทนคือ อะไร...และใครควรลงทุนในกองทุนไหนอย่างไร
วันนี้เรามาเริ่มที่ กองทุน LTF หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ long-term equity fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เกิดมาจากแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้นจดทะเบียนในตลาดรอง เช่น SET และ MAI เพื่อช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยสร้างวินัยในการออม ของผู้ลงทุนรายย่อยในระยะยาวมากยิ่งขึ้นด้วย
จากหลักการของการจัดตั้ง LTF ชัดเจนว่าเป็นการลงทุนในตราสารทุน หรือชัดเจนคือลงทุนในหุ้น ซึ่งมีระยะเวลาเป็นตัวกำหนดชัดเจนว่า อย่างน้อย 5 ปี ปฏิทิน เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุนระยะยาว ดังนั้นในการลงทุนผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่าในการลงทุนกองทุนประเภทนี้ มีความเสี่ยงอยู่ด้วย และผลตอบแทนขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารของผู้จัดการกองทุนเป็นสำคัญ ว่าจะสามารถพิชิตตลาดได้มากน้อยเพียงใด
นักลงทุนต้องคำนึงว่าตลอด 5 ปีผลตอบแทนที่ควรได้ควรเป็นเท่าไรจึงคุ้มกับการลงทุน โดยเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆ หรือ หากมีฝีมือ ก็ลงทุนเองอาจได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในกองทุนเล่านี้ก็ได้ เพราะ เมื่อลงทุนใน LTFแล้ว กรณีที่ผู้ลงทุนสั่งขายหรือสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน LTF หน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนจะถูกนำไปขายก่อน (First-In First-Out : FIFO) โดยผู้ลงทุนไม่สามารถกำหนดให้ บลจ.ขายหน่วยลงทุนก้อนอื่นที่ซื้อทีหลังได้ ตัวอย่างเช่น : ซื้อ LTF ในปี 2550 2551 2552 และ 2553 ต่อมาผู้ลงทุนต้องการขาย LTF บลจ.จะขายหน่วยลงทุนที่ซื้อในปี 2550 ก่อน และเรียงลำดับไปตามปีที่ซื้อก่อนเสมอ
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน LTF จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี และไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเงื่อนไขนี้มีการปรับปรุงจากเดิมที่ได้รับการยกเว้นในการลงทุน LTF สูงสุด 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี
การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้ทำให้ เงินที่ลงทุนใน LTF แล้วได้สิทธิเว้นภาษี 15 % จึงเป็นเงินได้หลักที่ไม่ได้รับสิทธิใดๆมาก่อน หรือง่ายๆคือ จากเงินเดือนเป็นหลัก ส่วนรายได้จากอื่นๆ เช่นเงินปั่นผลที่ได้สิทธิประโยชน์มาแล้วจะไม่สามารถนำมาเป็นฐานในการลงทุนได้อีก ส่วนกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ การลงทุนใน LTF คือฐานเงินเดือนเป็นหลัก แล้วเงินเดือนเท่าไรเป็นต้นไปจึงควรเริ่มต้นลงทุนใน LTF ...?
ลองมาดูตัวอย่างของมนุษย์เงินเดือน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าเป็นคนโสด ที่สามารถหักค่าลดหย่อยส่วนตัว ได้เพียงอย่างเดียวไม่นำค่าลดหย่อยอย่างอื่นมาคำนวณร่วมเพื่อความเข้าใจง่ายๆ กัน
จากฐานของรายได้ที่ที่เสียภาษีตามเกณฑ์ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั้น ซึ่งเป็นภาษีแบบขั้นบันได โดยรายได้ 150,000 แรกได้รับการยกเว้น ดังโครงสร้างภาษีข้างล่างนี้
หากท่านเป็นผู้มีเงินเดือน 20,000 บาท การคำนวณจะเป็นดังนี้ คือ
รายได้พึงประเมินคือรายได้ทั้งปี เท่ากับ เงินเดือน 20,000 บาท x 12 เดือน = 240,000 บาท
เงินได้สุทธิ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ 240,000 – 60,000 – 30,000 = 150,000 บาท
ตามตัวอย่างนี้ เงินได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษีคือ 150,000 บาท ซึ่งจากฐานรายได้นี้ เท่ากับผู้มีเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากได้รับยกเว้น ภาษีตามโครงสร้างอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะลงทุนใน LTF เพื่อผลประโยชน์จากการลดหย่อยภาษี
อีกตัวอย่าง หากเป็นผู้ที่มีเงินเดือน 25,000 บาท
รายได้พึงประเมินคือรายได้ทั้งปีเท่ากับ 25,000 บาท x 12 เดือน = 300,000 บาท
เงินได้สุทธิ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเท่ากับ 300,000 – 60,000 – 30,000 = 210,000 บาท
ตามโครงสร้างรายได้ 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นดังนั้น
ภาษีที่ต้องเสีย คือ 210,000 – 150,000 = 60,000 ซึ่งตามโครงสร้างต้องเสียภาษี ในอัตรา 5 %เท่ากับ 60,000 x 0.05 = 3,000 บาท
และจากเงื่อนไขผลประโยชน์ที่จะได้รับสิทธิทางภาษีสูงสุด 15 % ของเงินได้พึงประเมินในการลงทุน LTF ดังนั้น ท่านสามารถคำนวณการลงทุนในLTF ดังนี้ คือ
เงินได้พึงประเมิน 300,000 x 0.15 = 45,000 บาท
นั่นคือสามารถซื้อกองทุน LTF ได้สูงสุด 45,000 บาท
นี้คือ ตัวอย่างของการลงทุนในกองทุนยอดฮิต ที่ช่วงปลายปี จะมีการโปรโมทให้กับมนุษย์เงินเดือนเข้ามาลงทุน โดยพยายามบอกถึงประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับ แต่ที่จริงแล้ว หากท่านจะลงทุนในกองทุน ก็ต้องคำนึงในหลายๆด้าน ต้องรู้จักว่ากองทุนนั้นคืออะไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และผลประโยชน์ที่จะได้รับจริงๆคืออย่างไร
ไว้ครั้งหน้าเรามาดูการลงทุนในกองทุนยอดฮิตอีกตัวหนึ่งคือ RMF ว่ามีเงื่อนไขอย่างไรประกอบการตัดสินใจในการลงทุน เพื่อการบริหารเงินและภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://www.start-to-invest.com/
http://www.aommoney.com/taxbugnoms
ติดตามบทความที่เกี่ยวข้อง
-ภาษีและการบริหารกาเงิน[ซีรีส์] ตอน รู้ยัง! ทำงานมีรายได้ ต้องจ่ายภาษีหรือไม่อย่างไร...?
-ภาษีและการบริหารกาเงิน[ซีรีส์] ตอน มนุษย์เงินเดือน ลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง..?
-ภาษีและการบริหารการเงิน[ซีรีส์] ตอน เงินเดือน 30,000 บาทลงทุนอะไรดี ที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี.?