ไม่หยุด...กว้านแบรนด์ ค้าปลีก "ปตท." สยายปีกไทย-เทศ

ไม่หยุด...กว้านแบรนด์ ค้าปลีก "ปตท." สยายปีกไทย-เทศ

ไม่หยุด...กว้านแบรนด์ ค้าปลีก "ปตท." สยายปีกไทย-เทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดินเครื่องไม่หยุดหย่อนสำหรับการลุยค้าปลีกของกลุ่ม "ปตท." ล่าสุดแตกธุรกิจเปิดร้าน "ก๋วยเตี๋ยวเรือใจดี" ประเดิมสาขาแรกนำร่องที่ปทุมธานี ภายใต้อาณาจักร บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM)

ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ปตท.รีเทลที่แตกสยายธุรกิจหลากหลายและทะลุทะลวงดังกล่าว สอดรับกับภาพการเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรของธุรกิจค้าปลีกกลุ่ม "น็อนออยล์" ด้วยการเพิ่มบทบาททั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ไม่เพียงครอบคลุมทั้งบทบาทการเป็นดิสทริบิวเตอร์และมาสเตอร์แฟรนไชส์นำ แบรนด์ดังทั้งในและต่างประเทศเข้ามาทำตลาด แต่ยังรวมถึงการปั้นแบรนด์ตัวเองเข้ามาเสริมทิศทางการเติบโตธุรกิจอีกทาง

เพราะต้องไม่ปฏิเสธว่าด้วยทำเลแต่ละสาขาของสถานีน้ำมัน ปตท. หรือจิฟฟี่ ล้วนถือว่าอยู่ในจุดพื้นที่หลักของเส้นทางคมนาคมทั้งในกรุงเทพฯและต่าง จังหวัด การมี "แบรนด์สินค้า" ในมืออย่างน้อยก็ลดข้อจำกัดในเรื่อง "Place" ที่ครอบคลุม 1,200 สาขาทั่วประเทศแล้ว

ส่วน "Product" นั้น กลุ่มค้าปลีก ปตท.ก็ล้วนสยายปีกไม่ยอมหยุดในทุกธุรกิจที่เป็นโอกาส ด้วยแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นมาเอง อาทิ ร้านกาแฟอะเมซอน, ร้านชาเพิร์ลลี่ ที ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และล่าสุดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือใจดี หรือแบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์จากในประเทศและต่างประเทศเพื่อเปิดให้บริการผ่าน ทุกรูปแบบทั้งในและนอกปั๊ม อาทิ ไก่ทอดเท็กซัสชิกเก้น, ร้านโดนัทแด๊ดดี้โด รวมถึงร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่ถือมาสเตอร์แฟรนไชส์ในปั๊ม ปตท.กว่า 1,000 สาขา

เฉกเช่นเดียวกับภาพการเดินหน้าปั้น "แบรนด์ในมือ" เหล่านี้บุกหนักต่างประเทศ

"จักรกฤช จารุจินดา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางจากนี้จะมุ่งเน้นขยายสาขาให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการเปิดสาขาทั้งในรูปแบบร่วมกับสถานีน้ำมันและโมเดลสแตนด์อะโลน โดยได้เริ่มเปิดร้านสะดวกซื้อ "จิฟฟี่" นอกปั๊มแล้ว 3 สาขา ด้วยระบบแฟรนไชส์ พื้นที่เฉลี่ยตั้งแต่ 120-200 ตร.ม. และปี 2559 จะขยายเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 30 แห่ง

"เราจะเอาแบรนด์ "เพิร์ลลี่ ที" เข้าไปเปิดเพิ่ม และมองหาโอกาสลงทุนในประเทศอื่น ๆ อย่างกัมพูชา การเปิดสแตนด์อะโลนในประเทศเหล่านี้มีความพร้อม เพราะมองเห็นโอกาสจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมาก คู่แข่งน้อย การแข่งขันไม่สูง โดยยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 150-160 บาทต่อครั้ง เทียบกับในไทยมียอดใช้จ่าย 70 บาทต่อครั้ง"

การรุกเต็มสตรีมของกลุ่มน็อนออยล์ดังกล่าว หัวเรือใหญ่ "ค้าปลีก" ปตท.ขยายความว่า ต้องการสัดส่วนกำไรจากธุรกิจน้ำมัน 40% และน็อนออยล์ 60% ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับแผนการลงทุนดีซีอาหารสดเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยมีแผนลงทุนขยายเฟสใหม่ศูนย์กระจาย "ดีซี" สำหรับเก็บอาหารสด อาหารแช่เย็นและแช่แข็งซึ่งภาพการเทน้ำหนักเชิงรุกในกลุ่ม "น็อนออยล์" ของ ปตท.จะเห็นภาพเด่นชัดขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่และขยายสาขาตามแนวจังหวัดชายแดน เพื่อรองรับการเปิดเออีซี และพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปั๊ม ปตท.ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ

สอดคล้องกับแผนลงทุน "แบรนด์ในมือ" ที่จะสยายปีกเต็มพื้นที่ อาทิ ร้านไก่ทอดเท็กซัสชิกเก้นที่ซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์มาจากอเมริกา ปูพรม 70 สาขาใน 5-10 ปีจากนี้, ร้านคาเฟ่อะเมซอนเปิดให้บริการ 1,300 สาขา, ร้านชาเพิร์ลลี่ ที 100 สาขา และร้านแด๊ดดี้โด ปตท.ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในปั๊มน้ำมันเปิดให้บริการแล้ว 10 สาขา และร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ถือมาสเตอร์แฟรนไชส์ในปั๊มกว่า 1,000 สาขา

ทิศทางการสยายปีกของกลุ่มค้าปลีก ปตท. จึงมีก้าวย่างที่น่าสนใจและจับตามอง ไม่เพียงบทบาทของดีเวลอปเปอร์ให้เช่าพื้นที่ แต่ยังมีภาพของการกว้านสร้างแบรนด์และนำแบรนด์ทั้งไทยและเทศเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับตลาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook