จีนแผลงฤทธิ์ผลศึกษาร่วมลงทุนรถไฟไทย บีบนำเข้าวัสดุ-ขอค่าแรงขั้นต่ำวันละ800-งบบานเกิน5แสนล.
มังกรแผลงฤทธิ์! เปิดผลศึกษารถไฟไทย-จีน ระยะทาง 873 กม. เม็ดเงินพุ่งทะลุ 5.3 แสนล้านบาท ตะลึงคิดค่าแรงขั้นต่ำ 800บาท/วันสูงกว่าไทยเท่าตัว ล็อกสเป็กเหล็กบางตัวต้องนำเข้าจากจีน "อาคม" สั่ง ร.ฟ.ท. เอกซเรย์รายการก่อสร้างละเอียดยิบ หาข้อสรุปก่อนประชุมครั้งที่ 10 เดือน ก.พ. 59 จับตาเลื่อนตอกเข็มยาวถึงสิ้นปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ที่รัฐบาลจีนส่งมอบให้กระทรวงพิจารณาเบื้องต้น สรุปว่าใช้เงินลงทุนทั้งโครงการกว่า 5.3 แสนล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือกว่า 1 แสนล้านบาทเป็นค่างานระบบและรถไฟฟ้า
เงินลงทุนบวม 1 แสนล้าน
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาตรวจสอบรายละเอียดรายการก่อสร้างทั้งหมด เนื่องจากมูลค่าการลงทุนสูงกว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยฝ่ายไทยมีผลศึกษาว่าเงินลงทุนทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และมีค่าเวนคืนประมาณ 7,748 ล้านบาท
"ในแง่ผลศึกษาโครงการ ข้อมูลของไทยและจีนยังแตกต่างกันอยู่ ทำให้ต้นทุนก่อสร้างที่จีนเสนอมาสูง ต้องมาดูรายละเอียดกันใหม่ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่ฝ่ายจีนเสนอมา เฉลี่ย 160 หยวน/วัน คิดเป็นเงินไทย 800 บาท/วัน (อัตราคำนวณหยวนละ 5 บาท) ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/วัน นอกจากนี้ จีนยังเสนอให้ไทยสั่งนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากจีน เช่น เหล็กบางชนิด ซึ่งราคาค่อนข้างแพง"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาโครงการเฟสแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา เบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดการร่วมกันว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2559 ทางฝ่ายจีนส่งผลการศึกษาเบื้องต้นใช้เงินลงทุนประมาณ 229,614 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างและรับตัวรถ 224,619 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 4,994 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างจะเกิดขึ้นภาหลังมีการดำเนินการรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบรายละเอียดโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง มูลค่าโครงการ และข้อตกลงทางการเงินได้ข้อยุติแล้ว
"วงเงินที่เสนอมายังเป็นการประเมินของจีนฝ่ายเดียว ต้องรอที่ปรึกษาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนกำหนดระยะเวลาก่อสร้างเป็นข้อตกลงเบื้องต้นจากการประชุมคณะกรรมการร่วมของโครงการครั้งที่ 9 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน ซึ่งในช่วง 6 เดือนจากนี้ก็ยังตอบไม่ได้ชัดว่าเริ่มสร้างได้ไหม เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกเยอะ เช่น ผลศึกษาฉบับสมบูรณ์ที่จีนจะส่งให้เพื่อประเมินเงินลงทุนที่แท้จริง ดอกเบี้ยเงินกู้ การทำอีไอเอยังไม่ผ่าน เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
สั่งการรถไฟฯ เช็กตัวเลข
ทั้งนี้ ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่กระทรวงคมนาคมจัดทำขึ้น และผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 กำหนดแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ศึกษา สำรวจ ออกแบบให้แล้วเสร็จเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นเดือนกรกฎาคม 2559 การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งเป้ามีกำหนดแล้วเสร็จ และขออนุมัติโครงการประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน เริ่มเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป ถ้าเป็นไปตามกรอบเวลานี้จะมีกำหนดเสร็จปี 2564
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุดและนครราชสีมา-หนองคาย ภายในเดือนธันวาคมนี้การศึกษา สำรวจ การออกแบบจะแล้วเสร็จ จากนั้นเดือนธันวาคม 2559 คาดว่ารายงานอีไอเอจะได้รับความเห็นชอบ พร้อมขออนุมัติโครงการเดือนมกราคม-มีนาคม 2560
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้เงินลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีนยังไม่นิ่ง โดยได้สั่งการให้ที่ปรึกษาของการรถไฟฯ ทำการตรวจสอบข้อมูลผลศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟไทย-จีนที่ฝ่ายรัฐบาลจีนส่งให้พิจารณาถึงตัวเลขต้นทุนโครงการอย่างละเอียดและชัดเจน
ไทยบี้เจรจาลดดอกเบี้ย
"เงินลงทุนโครงการที่จีนเสนอมากว่า 5 แสนล้านบาทเป็นเพราะมีการก่อสร้างอุโมงค์ สะพาน และเพิ่มสถานี เช่น สถานีชุมทางบ้านภาชี เดิมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แต่ได้ปรับให้มาอยู่ในโครงการรถไฟไทย-จีน นอกจากนี้ เป็นวิธีการคิดต้นทุนที่จีนคำนวณออกมา ฝ่ายไทยต้องนำแบบก่อสร้างที่จีนศึกษาไว้ถอดค่าใช้จ่ายก่อสร้างตามวิธีคิดและระบบราคากลางของไทย รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงแล้ว"
นายอาคมกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ย ฝ่ายไทยยืนยันขอให้จีนปรับลดลงจาก 2.5% โดยเห็นว่าไม่ควรสูงกว่า 2% เป็นประเด็นที่ต้องมีการหารือกันต่อไปในที่ประชุมครั้งที่ 10 ณ ประเทศจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
พร้อมกับสรุปรายงานผลการศึกษาทั้งโครงการฉบับสมบูรณ์ที่จีนมีกำหนดส่งมอบภายในเดือนธันวาคมนี้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ( ครม.) อนุมัติโครงการช่วงที่ 1 จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 80% ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างกลางปี 2559 ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร และนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ขณะนี้การออกแบบคืบหน้ากว่า 50% ฝ่ายจีนจะส่งมอบผลศึกษาต้นปี 2559