การเงินสำหรับคู่แต่งงาน จัดการอย่างไรให้เวิร์ค
การแต่งงาน ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เริ่มจากการมีคนเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแทบจะตลอดเวลา มีคนคอยห่วงใย ดูแล และอยู่ร่วมกันในบ้าน และสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนไป คือ การบริหารจัดการเงินครับ ซึ่งเราจะบริหารจัดการเงินเหมือนตอนที่อยู่คนเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะต้องบริหารเงินให้พอใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายในบ้าน และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคู่แต่งงานทั้งสองคน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต เช่นค่าใช้จ่ายเมื่อมีลูก มีบ้าน มีรถ รวมถึงการออมเงินอีกด้วย
และช่วงปลายปีแบบนี้ ถือเป็นช่วงที่หลาย ๆ คู่เลือกที่จะแต่งงานกัน วันนี้ MoneyGuru.co.th ได้นำข้อแนะนำในการบริหารเงิน สำหรับคู่แต่งงานใหม่มาให้ฝากกันครับ
1. ปรึกษากัน
หลังจากแต่งงานกัน สิ่งแรก ๆ ที่ต้องมีการปรึกษาหารือกันกับคู่สมรสของคุณ คือเรื่องการเงินในครอบครัว ว่าแต่ละเดือนมีรายรับกันคนละเท่าใด และมีรายจ่ายคนละเท่าใด เพื่อจะได้คำนวณรายรับรายจ่าย และคำนวณเงินเก็บที่จะต้องเก็บไว้เพื่ออนาคต อีกทั้งยังเป็นการดูนิสัยการใช้จ่ายของแต่ละคนด้วย เพื่อจะได้ตักเตือนกันหากฝ่ายใดมีนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินไป เพื่อรักษาสถานะทางการเงินของครอบครัวเอาไว้ครับ
2. ทำประกัน
การทำประกันสุขภาพจะทำให้คุณช่วยประหยัดเงินได้เมื่อเวลาเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเองทั้งหมด เป็นการประหยัดเงินก้อนใหญ่เลยทีเดียว นอกจากนี้แต่ละคนควรทำประกันชีวิตไว้ด้วย เพราะเวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลง จะได้รับเงินประกันชีวิตเพื่อนำมาดูแลลูก และจ่ายหนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในบ้านต่อไป แม้ว่าครอบครัวจะเสียกำลังการหารายได้ไปเพราะมีฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลง
และนอกจากประกันชีวิตแล้ว ก็ยังมีประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยบ้าน รวมไปถึงประกันภัยรถยนต์ที่ควรทำด้วยครับ หากคุณผู้อ่านต้องการทราบว่าประกันภัยรถยนต์ช่วยประหยัดเงินอย่างไร คลิกอ่านได้เลยที่ ประกันภัยรถยนต์ ช่วยให้คุณประหยัดเงินได้อย่างไร ครับ
3. ตั้งเป้าหมายในการใช้เงินร่วมกัน
หากแต่ละฝ่ายมีเงินก้อนใหญ่อยู่ ควรนำเงินก้อนนี้มาตั้งเป้าหมายในการใช้จ่ายร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งคู่มากที่สุด ไม่ใช่ต่างคนต่างใช้ เช่น ตั้งเป้าหมายการใช้เงินว่าจะนำไปซื้อบ้าน รถ หรือเป็นค่าเล่าเรียนลูก แต่หากไม่มีเงินก้อน ก็ควรตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันครับ
4. หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว
ควรติดตามสถานะทางการเงินของกันและกันเป็นระยะ ไม่ให้ใช้จ่ายเกินรายได้ เพราะจะทำให้เงินไม่พอใช้ และไม่มีเงินเหลือเก็บ จนกระทั่งต้องไปหยิบยืมคนอื่นมาใช้จ่าย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญญา ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการหย่าร้างตามมา คือการกู้หนี้ยืมสิน การเป็นหนี้ครับ
5. หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น
การเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากอย่างไม่จำเป็น แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มันจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของครอบครัวเป็นอย่างมาก และทำให้การเก็บเงินเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ และเสียวินัยในการใช้เงินไปในที่สุดครับ
6. บัญชีเก็บเงินจะเปิดร่วมกัน
ในกรณีที่มีเป้าหมายการเก็บเงินร่วมกันของทั้งคู่ เช่น เงินเพื่อการศึกษาของลูกในอนาคต เงินซื้อบ้าน เงินซื้อรถ เงินสำหรับไปฮันนีมูน หรือเงินสำหรับไปเที่ยวต่างประเทศกันทั้งครอบครัวประจำปี ก็เป็นการดีที่จะเปิดบัญชีร่วมกันเอาไว้ เพื่อความมีวินัยของทั้งคู่ แต่หากเป็นเงินเก็บส่วนตัว จะเปิดร่วมกันหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน เปิดเผยว่าเงินถูกนำไปใช้อะไรบ้างครับ
การเงินในครอบครัวที่ดี ที่มีการวางแผน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุข ลดอัตราการหย่าร้าง และปัญญาในครอบครัวต่าง ๆ ที่จะตามมานะครับ MoneyGuru.co.th หวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยใหคู่แต่งงานใหม่ มีแผนการเงินที่ดี และมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขครับ หากคุณผู้อ่าน ต้องการอ่านบทความเกี่ยวกับการเงินด้านอื่น ๆ ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ MoneyGuru.co.th ครับ
อ้างอิง wikihow.com, aommoney.com, dailynews.co.th