มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงรายเวนคืนหมื่นไร่
กรมทางหลวงลุยมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย สรุปผลศึกษาเส้นทางพาดผ่านเชียงใหม่-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย ระยะทาง 184 กม. งบฯลงทุนพุ่งกว่า 1 แสนล้าน ชี้แนวถนนต้องเจาะอุโมงค์ผ่านอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน-ดอยหลวง ระยะทาง 21 กม. เผยต้องเวนคืนพื้นที่ 1.2 หมื่นไร่กว่า 900 หลังคาเรือน เตรียมงบฯค่าเวนคืนกว่า 2.6 พันล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างปี′63
นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บจ.เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ บจ.วี เอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม รวมระยะเวลาในการศึกษา 20 เดือน ขณะนี้ได้ข้อสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการทั้งด้านวิศวกรรม ด้านการจราจรและขนส่ง ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผลการศึกษาโครงการ
ทั้งนี้ ได้สรุปแนวเส้นทางมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 184 กิโลเมตร ผ่าน 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย โดยมีจุดเริ่มต้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน เข้าสู่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เข้าสู่อำเภอเมืองพะเยาและอำเภอแม่ใจ เชื่อมโยงเข้าอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย จนมาสิ้นสุดที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงราย
พื้นที่เป้าหมายที่เป็นแนวเส้นทางผ่านแต่ละอำเภอ ประกอบด้วย อำเภอดอยสะเก็ด ผ่าน ต.สันปูเลย ต.สำราญราษฎร์ ต.ป่าลาน ต.ตลาดใหญ่ ต.สง่าบ้าน ต.ป่าป้อง ต.แม่ฮ้อยเงิน และ ต.แม่โป่ง ส่วนพื้นที่อำเภอแม่ออน ผ่าน ต.สหกรณ์ และ ต.ออนเหนือ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีแนวเส้นทางผ่าน ต.เมืองปาน และ ต.แจ้ซ้อน ส่วนอำเภอแจ้ห่ม ผ่าน ต.แม่สุก และอำเภอวังเหนือ ผ่าน ต.ร่องเคาะ ต.วังใต้ ต.วังเหนือ ต.วังซ้าย และ ต.ทุ่งฮั้ว
ในส่วนพื้นที่จังหวัดพะเยา แนวเส้นทางอำเภอเมืองพะเยา ผ่าน 3 ตำบลคือ ต.บ้านต๊ำ ต.ท่าจำปี และ ต.บ้านใหม่ ส่วนอำเภอแม่ใจ ผ่าน ต.แม่สุก ต.แม่ใจ ต.ศรีถ้อย ต.ป่าแฝก ต.เจริญราษฎร์ ต.บ้านเหล่า
ด้านจังหวัดเชียงราย แนวเส้นทางจากอำเภอพาน ผ่าน ต.ทานตะวัน ต.หัวงมต.เวียงห้าว ต.ดอยงาม ต.สันมะเค็ด ต.แม่อ้อ ส่วนแนวเส้นทางอำเภอเมืองเชียงราย ผ่าน ต.ดอยลาน ต.ห้วยสัก และอำเภอเวียงชัย มีแนวเส้นทางผ่าน ต.ดอนศิลา
นายนิรัตน์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายของโครงการจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ค่าใช้จ่ายลงทุน 91,153 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการ 10,021 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายโครงการทั้งสิ้น 101,174 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปีแรก 2560 จนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 และยังเป็นการลงทุนที่ครอบคลุมถึงหลังการเปิดใช้เส้นทางในปี 2568-2597 รวมระยะเวลาเกือบ 30 ปีหลังการเปิดใช้เส้นทางนี้
ขณะที่การประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พบว่า มีมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางจากเชียงใหม่ถึงเชียงรายไม่เกิน 2 ชั่วโมง และยังลดความสูญเสียด้านอุบัติเหตุ รวมผลประโยชน์โครงการราว 799,755 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางการก่อสร้างมีพื้นที่ต้องถูกเวนคืนที่ดินราว 12,000 ไร่ มีจำนวนบ้านเรือนกว่า 900 หลังคาเรือนที่ต้องถูกเวนคืน โดยต้องใช้งบประมาณสำหรับการเวนคืนที่ดินราว 2,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายโครงการที่อยู่ในส่วนของการลงทุน
นอกจากนี้การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายเชียงใหม่-เชียงราย จะตัดผ่านแนวเทือกเขาเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร จึงเลือกรูปแบบการทำอุโมงค์ ซึ่งสามารถย่นระยะทางและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง โดยแนวเส้นทางการก่อสร้างอุโมงค์จะผ่านอุทยานแห่งชาติ 2 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ระยะทาง 16 กิโลเมตร และอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทาง 5 กิโลเมตร
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการในขณะนี้ ได้มีการประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 จากนี้ไปจะเป็นการออกแบบรายละเอียดรายงานการศึกษาความเหมาะสม และภายในปี 2559 จะนำเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาโครงการ หากได้รับอนุมัติ จากนั้นในปี 2560 คาดว่าจะสู่ขั้นตอนการจ้างออกแบบรายละเอียดโครงการ ส่วนปี 2561-2562 จะเป็นช่วงระยะเวลาการเวนคืนที่ดิน โดยคาดว่าในช่วงปี 2563 จะเริ่มงานก่อสร้าง จะแล้วเสร็จปี 2567 และเปิดใช้เส้นทางได้ในปี 2568
นายนิรัตน์กล่าวอีกว่า รูปแบบการลงทุน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทนี้ กรมทางหลวงได้วางกลยุทธ์ไว้ 3 รูปแบบคือ 1.รัฐลงทุนทั้งหมด 2.รัฐร่วมทุนกับเอกชน และ 3.เอกชนลงทุนทั้งหมด ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังได้วางแผนให้เส้นทางมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางหมายเลข 5 เชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สายและเชียงของ เพื่อให้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเชื่อมโยงจากภาคเหนือลงไปสู่ภาคใต้ของไทย และปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย