เผยธุรกิจมาแรงปี 59 พร้อมแนะแนวทางแก่ผู้ประกอบการยุคใหม่

เผยธุรกิจมาแรงปี 59 พร้อมแนะแนวทางแก่ผู้ประกอบการยุคใหม่

เผยธุรกิจมาแรงปี 59 พร้อมแนะแนวทางแก่ผู้ประกอบการยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวานนี้ นักวิชาการวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยกลุ่มธุรกิจมาแรงในปี 2559 คือกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน สุขภาพ และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร ฉะนั้นหากผู้ประกอบการต้องการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการต้องประยุกต์ใช้หลักการของสตาร์ทอัพเข้าสู่ธุรกิจ นั่นคือ การไม่หยุดนิ่ง คิดค้นสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา และการเพิ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าสู่ธุรกิจ

โดยผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ มุ่งมั่นตั้งใจ ริเริ่มสร้างสรรค์ วางแผนธุรกิจเป็น และกล้าเสี่ยงที่จะลงทุน

นายกิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังนับถอยหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ตลาดสินค้าและบริการเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาและขยับขยายธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มาแรงในยุคปัจจุบัน คือกลุ่มธุรกิจที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลักสำคัญเพื่อพัฒนาสินค้า บริการ หรือตัวแบบธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในอนาคต หรือที่มักคุ้นหูในชื่อ “สตาร์ทอัพ” (StartUp) นั่นเอง

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดภายใต้สภาวะแวดล้อมการแข่งขันในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมถึงการเน้นสร้างความสะดวกสบายของผู้บริโภคผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การเพิ่มช่องทางทำการตลาดผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยธุรกิจเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากนักธุรกิจหน้าใหม่ แต่เป็นธุรกิจที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน

ดังนั้น การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องคิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้เกิด “ความสดใหม่” อยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่สร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือตัวแบบธุรกิจ จะสนับสนุนให้ธุรกิจก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งของอุตสาหกรรมนั้นๆได้ไม่ยาก โดยกลุ่มธุรกิจที่จะมาแรงเป็นพิเศษในปี 2559 นั้น มี 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) เหตุเพราะการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตทุกวันนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้นการนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินให้ง่ายขึ้น ย่อมเป็นโอกาสและความน่าสนใจใหม่สำหรับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ และเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า มูลค่ามวลรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีฟินเทคเกี่ยวข้อง (FinTech StartUp) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอย่างชัดเจน

2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare and Wellness) เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองในปี 2559 เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ เช่น ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ นวัตกรรมด้านสุขภาพ ล้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพของภูมิภาค (Medical Hub) โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ารับบริการสุขภาพในประเทศไทยถึง 1.2 ล้านครั้ง สร้างรายได้เข้าประเทศ 107,000 ล้านบาท (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (Food Innovation) เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีกระแสของการเติบโตไม่น้อยในปี 2559 ที่ใกล้เข้ามา เหตุเพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถือว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดอาเซียน ซึ่งหากมีการประยุกต์เอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

นอกจากนี้ความเข้มแข็งและมุ่งเน้นผลักดันส่งเสริมจากภาครัฐในอุตสาหกรรมด้านอาหารและนวัตกรรมอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่มีส่วนส่งผลต่อความสำเร็จและโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมด้านอาหารในปีหน้า เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งในด้านการให้ความรู้เพิ่มเติมในการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเปิดตลาดต่างประเทศ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมาจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มมีมากกว่า 370,000 ราย สร้างมูลค่ารวมกว่า 628 ล้านบาท (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)

อย่างไรก็ดี เมื่อมองว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจแล้วนั้น ก็ต้องมองอีกด้านหนึ่งในเรื่องของการปรับตัวของธุรกิจเพื่อต่อสู้แข่งขันกับคู่แข่งที่มีมากขึ้นหลายเท่าตัว ฉะนั้นหากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องการปรับตัวให้อยู่รอดแล้ว ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องคิดในมุมมองแบบนักธุรกิจสตาร์ทอัพให้ได้ กล่าวคือ การคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ตลอดเวลา และยังต้องมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ นอกจากนั้น อาจารย์กิตติชัย ยังได้ให้แนวคิดสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ตระหนักในการดำเนินธุรกิจ 4 ประการ คือ

1. ความมุ่งมั่นตั้งใจ (Entrepreneurial Intention) – ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำธุรกิจ พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้และมีทั้งความตั้งใจและเข้าใจธุรกิจที่ทำ และมีตัวชี้วัดเป็นความมุ่งมั่นในการนำเงินมาเริ่มลงทุนทำธุรกิจ

2. ความคิดริเริ่มธุรกิจ (Business-Idea Initiate) – ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการทำธุรกิจเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของจุดขายของธุรกิจ โดยเฉพาะการคิดแบบนวัตกร (Innovator) ที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวส่งเสริมธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น

3. ความรู้ด้านการวางแผนและสร้างตัวแบบธุรกิจที่มีความเป็นไปได้จริงและมีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Business Model and Plan) – ผู้ประกอบการยุคใหม่จะเป็นต้องมีความรู้ด้านการทำธุรกิจและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น รู้กลุ่มลูกค้า ผลิตภัณฑ์ ความต้องการของตลาด คู่แข่งในตลาด เป็นต้น เพื่อใช้ในการร่างแผนธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ความรู้ในเรื่องเครื่องมือของผู้ประกอบธุรกิจ (Business Model) อย่างแพร่หลาย

4. ความเป็นคนรักที่จะเสี่ยงและเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ (Risk and Challenge Lover) – โดยหลังจากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ความใจสู้และกล้าเสี่ยงถือเป็นหัวใจสำคัญของคนทำธุรกิจ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ต้องการประสบความสำเร็จไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการใช้ความใจสู้และกล้าเสี่ยงนั้น ต้องมีการศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยและสถิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

"ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะปัจจุบันได้แล้ว น่าจะสามารถครองพื้นที่ส่วนมากของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2557 มูลค่า GDP ของเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 37 และในปี 2556 สัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอี ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 37.4 และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันแนวโน้มที่ผ่านมาก็เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงสูงกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศ ซึ่งจุดนี้แสดงถึงการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโต (Engine of Growth) ที่สำคัญยิ่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ" อาจารย์กิตติชัย กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook