ซื้อของหรือใช้บริการอะไรดี ให้คุ้มกับสิทธิลดภาษี 15,000 บาท!!

ซื้อของหรือใช้บริการอะไรดี ให้คุ้มกับสิทธิลดภาษี 15,000 บาท!!

ซื้อของหรือใช้บริการอะไรดี ให้คุ้มกับสิทธิลดภาษี 15,000 บาท!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

TAXBugnoms AomMoney Guru

บล็อกเกอร์ผู้รวมเรื่องราวและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานในแวดวงภาษี บัญชี การเงิน การลงทุน และเรื่องราววุ่นๆในการใช้ชีวิต


สวัสดีครับ หลังจากบทความเรื่อง อย่าลืม!! เที่ยวหรือช๊อปก่อนสิ้นปี ได้สิทธิลดหย่อนภาษี 30,000 บาท ได้ออกไปเป็นที่เรียบร้อย ก็มีหลายๆคำถามถามผมมาครับว่า ควรจะซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนภาษี!! ไหนๆ ได้สิทธิมาขนาดนี้แล้ว ซื้อนู่นนั่นนี่โน่นจะดีไหม

ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไรเพื่อลดภาษี ผมขออนุญาตถามเพื่อความแน่ใจอีกทีครับว่า “สรุปแล้วรู้หรือยังว่าเราเสียภาษีในอัตราสูงสุดเท่าไร” และได้คำนวณภาษีตัวเองออกมาหรือยัง ถ้าคำตอบคือ “ยังไม่รู้” ผมแนะนำให้ลองคำนวณดูก่อนครับ (ถ้าขี้เกียจก็ใช้ Application คำนวณภาษีอย่าง ITAX Pro ได้ครับ : อ่านเพิ่มเติม [Review] ITAX Pro : Application วางแผนภาษีระดับมืออาชีพ)

ทีนี้หลังจากที่คำนวณภาษีออกมาได้แล้ว มาทำความเข้าใจกันต่ออีกขั้นหนึ่งนะครับว่า “การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 15,000 บาท” ที่ว่านี้ ไม่ได้ลดภาษีทันที 15,000 บาท แต่มันลดได้สูงสุดจากอัตราภาษีที่เราต้องเสียต่างหากครับ


เช่น ถ้าหากเราเสียภาษีในอัตรา 10% การใช้จ่าย 15,000 บาทของเรานั้น จะสามารถลดภาษีได้ 1,500 บาทเท่านั้น เรียกง่ายๆก็เหมือนการซื้อสินค้าหรือบริการแล้วได้สิทธิลด 10% ครับ ดังนั้นถามตัวเองก่อนครับว่า “คุ้มไหม” และอีกหนึ่งคำถามที่ต้องถามให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ “เรามีกระแสเงินสดในการใช้จ่ายตามปกติเพียงพอหรือยัง” เพราะถ้าตะบี้ตะบันจะลดภาษีแบบนั้นแล้วล่ะก็ ระวังมันจะกลายเป็นว่า เราอยากลดภาษีจนลืมนึกถึงรายจ่ายที่มีในกระเป๋าครับ

โอเค.. สมมุติว่าเงื่อนไขทั้งหมดผ่านเรียบร้อย และเราตัดสินใจได้ว่า ชั้นจะซื้อหรือรับบริการแน่ๆแล้วล่ะก็.. สิ่งต่อมาที่ควรทำก็คือพิจารณาถึงความต้องการของตัวเองว่า มีรายจ่ายอะไรบ้างที่เรากำลังจะใช้ในช่วงวันที่ 25 – 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งอันนี้ก็คงต้องดูว่าเราอยากจะมีจะซื้ออะไรใช่ไหมครับ เช่น ผมกำลังจะซื้อของขวัญปีใหม่ให้กับครอบครัว แบบนี้ก็ถือโอกาสลดภาษีไปในตัวเลยครับ หรือใครมีแนวโน้มที่จะซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ให้รางวัลชีวิตกับตัวเอง แบบนี้ก็สุดแท้แล้วแต่ใจคร้าบ

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เมื่อตัดสินใจซื้อแล้วจะนำมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่? นั่นแปลว่าสิ่งที่เราต้องระวังคือเงื่อนไขต่างๆที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยรายการต่อไปนี้ครับ

1. ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย : สิ่งแรกที่เราควรใช้ในการพิจารณาสิทธิลดหย่อนภาษี คือ เรืองของความน่าเชื่อถือของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการครับว่า เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เราชอบเรียกกันแบบง่ายๆว่า จด VAT หรือเปล่าครับ

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนะครับ อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องเช็คให้ดีว่า ผู้ขายจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มและสามารถออกใบกำกับภาษีให้เราได้จริงๆหรือเปล่า

แต่ถ้าอยากมีชีวิตง่ายๆและไม่มีปัญหา ผมแนะนำว่าการซื้อของตามห้างสรรพสินค้านี่แหละครับคือคำตอบสุดท้ายที่เราควรเลือกครับ


(ที่มา : หลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558)

2. สินค้าและบริการที่เลือกซื้อ : อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรกครับว่า ตั้งแต่เขียนบทความล่าสุด ไปก็มีคำถามมากมายครับว่า ซื้อนู่นนั่นนี่โน่นดีหรือเปล่า ผมขอแยกแนวคิดออกมาเป็น 4 ประเด็นตามนี้ครับ

1) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า หากเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็แปลว่าไม่สามารถใช้สิทธิในส่วนนี้ได้ครับ เช่น ทองคำ (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทองรูปพรรณ (คิดภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะค่ากำเหน็จ) รวมถึงบริการทางการแพทย์ต่างๆที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตรงนี้เช็คไม่ยากครับ เพียงแค่ถามว่า สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้หรือเปล่า เพราะถ้าออกไม่ได้ ก็แปลว่าสินค้าหรือบริการนั้นไม่ได้จดหรือไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีนั่นเองครับ

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงวันที่ 25 – 31 ธันวาคม 2558 หรือเปล่า ตรงนี้ผมมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ซึ่งแนวทางของสรรพากรก็ออกมาว่า “ต้องเป็นการใช้บริการในช่วง 25 – 31 ธันวาคม 2558 เท่านั้น” นั่นแปลว่า หากเป็นการจ่ายค่าบริการที่ได้ใช้ไปก่อนหน้านี้ เช่น ค่าน้ำไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็ไม่สามารถใช้ได้ และ การซื้อล่วงหน้าเพื่อใช้ในอนาคตก็ไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ เช่น การซื้อประกันอุบัติเหตุที่ครอบคลุมทั้งปี เพราะต้องเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 25 – 31 ธันวาคมเท่านั้นครับ

3. สินค้าและบริการนั้นต้องไม่ต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงกำหนด ได้แก่ การซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มนั้น ตอนนี้ยังไม่มีข้อห้ามนอกจากตัวที่ยกเว้นในกฎหมายนะครับ คือ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ดังนั้นถ้าหากไม่ใช่ของพวกนี้ สามารถซื้อได้และนำมาลดหย่อนได้ครับ

4. เรื่องการทับซ้อนกับการลดหย่อนท่องเที่ยวในประเทศ หากเราใช้สิทธิค่าลดหย่อนท่องเที่ยวในประเทศเต็มจำนวนแล้ว 15,000 บาท และได้ซื้อสินค้าและบริการในส่วนนี้เพิ่มเติมภายในระยะเวลาวันที่ 25 – 31ธันวาคม 2558 สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถนำรายการเดียวกันมาลดหย่อนได้ทั้งสองกรณีครับ

เช่น ออกใบกำกับภาษีมูลค่า 20,000 บาท 1 ใบ แล้วใช้เป็นค่าลดหย่อนท่องเที่ยว 15,000 บาท และค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ 5,000 บาท แบบนี้ไม่สามารถทำได้ครับ ต้องแยกกันออกเป็น 2 ใบ คือ 15,000 บาท และ 5,000 บาท ถึงจะสามารถทำได้ครับ

(ที่มา : หลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558)

3. เรื่องใบกำกับภาษี ประเด็นสุดท้ายคือ ใบกำกับภาษีต้องมีรูปแบบตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปนั่นเองครับ โดยข้อควรระวังก็คือ ต้องมีชื่อและที่อยู่ของเราอยู่ในใบกำกับภาษีนั้นเพียงคนเดียวครับ และผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้นั้น ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลครับ

สำหรับคนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร ในส่วนของ หลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าหากมีข้อสงสัยอะไรที่คิดว่าผมพอจะช่วยได้ ก็ติดต่อสอบถามมาได้ที่เพจ @TAXBugnoms ได้เลยครับ

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ผมเขียนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆในช่วงสิ้นปีนี้นะครับ ขออวยพรให้ทุกท่านสามารถเลือกซื้อของและบริการที่ถูกใจต้อนรับปีใหม่นี้ และสามารถลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่กันเลยนะคร้าบบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook