ปรับปรุง"บัตรทอง" ยังไม่จบ ตั้งกก.อีกชุด เคาะร่วมจ่ายหลังปีใหม่

ปรับปรุง"บัตรทอง" ยังไม่จบ ตั้งกก.อีกชุด เคาะร่วมจ่ายหลังปีใหม่

ปรับปรุง"บัตรทอง" ยังไม่จบ ตั้งกก.อีกชุด เคาะร่วมจ่ายหลังปีใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คกก.ศึกษาบัตรทองเสนอทางเลือก "ร่วมจ่ายทุกคน-ไม่จ่ายทุกคน" ให้รัฐรับภาระเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่ม ยันหลักการร่วมจ่ายคือความเท่าเทียม ไม่ใช่ระดมเงิน แนะเพิ่ม VAT เป็นงบฯ รักษาพยาบาล ด้าน "ปิยะสกล" ตั้งทีมถกอีกรอบหลังปีใหม่

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งนี้ในที่ประชุมมีกรรมการและผู้บริหารสธ.เข้าร่วม อาทิ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรฯ นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมการ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น

นพ.สุวิทย์ กล่าวในที่ประชุมว่า คณะกรรมการมีข้อเสนอว่าในระยะยาวควรจะมีเป้าประสงค์ที่เรียกว่า SAFE 4 ข้อ คือ

1.Sustainability (ความยั่งยืน) โดยการลงทุนด้านสุขภาพของจะต้องเป็นจำนวนเงินที่ประเทศ รัฐบาล และประชาชนรับได้ ซึ่งรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจีดีพี และรายจ่ายของรัฐต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน

2.Adequacy (ความเพียงพอ) มีความเพียงต่อที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เมื่อเจ็บป่วย โดยไม่มีปัญหาทางการเงิน ไม่มีคนล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

3.Fairness (ความเท่าเทียม) ทุกคนต้องได้รับการรักษาที่เท่ากันตามมาตรฐานที่รัฐวางไว้ให้ โดยการกำหนดช่วงชั้นของอายุและค่ารักษาพยาบาลของแต่ละกองทุน เพื่อกำหนดระดับชั้นของการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละกองทุนไม่ควรต่างกันเกินร้อยละ 10

มี 2 แนวทาง ที่เสนอเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมคือ

1.ร่วมจ่ายทุกกองทุน ตามความเท่าเทียมโดยในส่วนของข้าราชการนั้น ให้ข้าราชใหม่เข้าสู่ระบบประกันสังคม ปรับเงินเดือนขึ้นให้ 1.3-1.5 เท่า ส่วนข้าราชการเดิมให้เป็นไปโดยสมัครใจ สำหรับบัตรทองนั้นจะจ่ายเงินสมทบตามระดับรายได้ หรือฐานะโดยแบ่งเป็นช่วงชั้น 3-5 ช่วงชั้น ยกเว้นครัวเรือนที่รายได้น้อย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีรายได้สูงหรือคนรวยในสิทธิบัตรทองนั้นมีอยู่ร้อยละ 11.6

"ส่วนระบบประกันสังคมนั้น ให้จ่ายเงินสมทบตามระบบเดิมที่มีอยู่ แต่ให้ปรับเพดานอัตราเงินเดือนขึ้นไปอีก 7 เท่า เพื่อให้มีความห่างระหว่างอัตราต่ำสุดและสูงสุด

2.ไม่ร่วมจ่าย โดยมองว่าประชาชนทั้งประเทศต้องจ่ายภาษี แต่มีเพียงกองทุนประกันสังคมเท่านั้นที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มก่อนรับบริการ ทุกกองทุนไม่ต้องร่วมจ่ายโดยส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ โดยรัฐวางมาตรฐานการให้บริการไว้ แต่หากมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็จะต้องจ่ายเพิ่มในส่วนนั้น เช่น ห้องพิเศษ หรือพยาบาลพิเศษ เป็นการเลือกที่จะจ่ายเพิ่มโดยบุคคลนั้นเอง

แต่การร่วมจ่ายนั้นจะต้องไม่กระทบกับคนที่มีรายได้น้อย ไม่ร่วมจ่ายในกรณีที่มีผลกระทบต่อคนอื่น เช่น การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หรือการรักษาโรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น อีกทั้งต้องไม่ให้คนที่มีความสามารถในการจ่ายเพิ่มดึงทรัพยากรทางการแพทย์ไปทั้งหมด" นพ.สุวิทย์ กล่าวและว่า

ยืนยันว่าการร่วมจ่ายเป็นข้อเสนอเพื่อความเท่าเทียม ไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อเพิ่มเงินในระบบ ซึ่งหากจะระดมงบประมาณนั้น คณะกรรมการมีข้อเสนอให้เพิ่มจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อให้การเก็บเป็นไปอย่างเสมอภาคมากที่สุด หรือ อาจเป็นภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องมีการสร้างกลไกที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจด้วยว่าเงินจำนวนที่เก็บเพิ่มขึ้นนี้จะนำไปใช้ในระบบประกันสุขภาพ

นพ.สุวิทย์กล่าวอีกว่า 4.Efficiency (ความมีประสิทธิภาพ) ขอเสนอให้ระบบประกันสุขภาพของภาครัฐทุกระบบใช้งบประมาณแบบปลายปิดเพื่อให้สามารถควบคุมงบประมาณได้ และให้นำงบประมาณไปส่งเสริมสุขภาพได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ จะต้องควบคุมการจัดซื้อยาที่ราคาสูง

“ข้อเสนอข้างต้น คณะกรรมการเพียงศึกษาและนำเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล เท่านั้น โดยเป็นข้อเสนอที่ทุกภาคส่วนเห็นด้วย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนการนำไปใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ สธ.” นพ.สุวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถาม ถึงกรณีการโยงเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เพราะเป็นการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ แต่เรื่องนี้ประชาชนต้องฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มโนไปเอง อย่างบัตรทองบอกว่าจะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้มีการพูดว่าจะยกเลิก ประชาชนต้องรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า บัตรทองมีแต่จะต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ก็ตาม ซึ่งจะต้องมีการทำให้ระบบนี้ยั่งยืน ทั้งนี้ หลังจากผ่านเทศกาลปีใหม่ วันที่ 4 มกราคมนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนทุกภาคส่วนเพื่อพิจารณาข้อเสนอนี้อีกครั้ง ส่วนเรื่องบัตรทองในปี 2559 ยังใช้แบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในปี 2560 คาดว่าจะได้ข้อสรุปและมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลา และอายุการทำงานของรัฐบาลชุดนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook