รบ.ซุ่มเงียบ! คลอด พ.ร.ก.นิรโทษภาษีปี 58 สำหรับ SME

รบ.ซุ่มเงียบ! คลอด พ.ร.ก.นิรโทษภาษีปี 58 สำหรับ SME

รบ.ซุ่มเงียบ! คลอด พ.ร.ก.นิรโทษภาษีปี 58 สำหรับ SME
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี รายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท หวังล้างความผิดให้บริษัทที่ไม่ตั้งใจทำผิด และดึงนิติบุคลเข้าระบบ



วันที่ 4 ม.ค. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีทั้งสิ้น 9 มาตรา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อนิรโทษกรรมการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ การได้รับยกเว้น จากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งจูงใจให้ธุรกิจเหล่านี้ใช้บัญชีเดียวในการดำเนินกิจการ

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คือ ต้องจดแจ้งต่อกรมสรรพากรว่า เป็นผู้ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.ก. และต้องยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และชำระภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีหลัง วันที่ 1 ม.ค. 59 รวมถึงยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน

ขณะเดียวกัน จะต้องมีการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 59 เป็นต้นไป และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ หากบริษัทใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ กรมสรรพากรจะตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษี และดำเนินความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษีรายรับด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ร.ก.ยังกำหนดให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้สถาบันการเงินใช้บัญชีและงบการเงิน ที่ธุรกิจกลุ่มนี้ยื่นกรมสรรพากร เพื่อเสียภาษีเป็นหลักฐานในการ ทำธุรกรรมทางการเงินและการ ขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการ เงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การได้รับการยกเว้นตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่บังคับกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบภาษี โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ บริษัทที่ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจการทำงานของกระทรวงการคลัง และจะมีการแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลังถึงการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวในวันนี้ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook