เทรนด์ธุรกิจมาแรง 2016 "ฟรีแลนซ์-สตาร์ตอัพ" ฟีเวอร์

เทรนด์ธุรกิจมาแรง 2016 "ฟรีแลนซ์-สตาร์ตอัพ" ฟีเวอร์

เทรนด์ธุรกิจมาแรง 2016 "ฟรีแลนซ์-สตาร์ตอัพ" ฟีเวอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พัฒนาการของเทคโนโลยีถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ในยุคที่ประชาชนของโลกทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตและความนิยมที่พุ่งกระฉูดของสมาร์ทโฟนในฐานะที่เป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ในการเชื่อมต่อคนเข้าสู่โลก ทั้งการ "สร้างรายได้" และ "การจับจ่าย" ก็ถูกทำให้ง่ายขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในปี 2559 มีเทรนด์โลกที่น่าจับตามองอันเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่าง ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ขณะที่ประชากร "เจเนอเรชั่น Z" ซึ่งกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีความสำคัญ การ "ถอดรหัส" ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดแผนการตลาดในอนาคตด้วย


กระแส "ฟรีแลนซ์" กันทั่วโลก

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ การทำงานแบบ "ฟรีแลนซ์" กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น ด้วยระบบอินเทอร์เนตที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เปิดโอกาสให้การทำงานมีความยืดหยุ่น ขณะที่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะก็ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทำให้จำนวน "มือปืนรับจ้าง" หรือแรงงานฟรีแลนซ์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความต้องการแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการเพื่อทำงานเป็นรายครั้ง ยังทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆเช่น การเป็นคนจับคู่แรงงานให้กับผู้ว่าจ้างดังที่เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ไปฝากผลงานและลงประกาศหาคนทำงานเป็นครั้งคราว

โดยสถิติจากสหภาพแรงงานฟรีแลนซ์ (Freelancers Union) ในสหรัฐระบุว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 1,000 คน มี 34% ทำงานฟรีแลนซ์ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้กว่า 60% ยังสามารถสร้างรายได้จากการทำงานอิสระได้ถึงกว่า 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด

การทำงานในฐานะฟรีแลนซ์ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวขึ้นของเทคโนโลยีประเภท Cloud Computing ที่เพิ่มโอกาสให้หลายคนสามารถทำงานส่งให้กับนายจ้างที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวกัน และยิ่งมากประสบการณ์ก็ยิ่งหางานง่ายขึ้น


"บิ๊กดาต้า" หนุนธุรกิจยิ่งโต

นอกจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของระบบ Cloud Storage แล้ว ระบบการค้นหา (Search Engine) ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจยุคปัจจุบัน โดยระบบการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายผ่านระบบค้นหา เช่น Search Engine-Opimisation (SEO) เป็นอีกช่องทางสำคัญในการดึงดูดลูกค้า และหลายคนยังนิยมทำเงินผ่านระบบชำระเงินต่อยอดคลิก (pay-per-click-PPC) จากการรับฝากโฆษณาในหน้าเพจ

การก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญของระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ เช่น Siri ของค่ายแอปเปิล หรือ Cortana ของไมโครซอฟท์ ก็เริ่มเข้ามาพลิกวงการเสิร์ชเอ็นจิ้นเช่นกัน เพราะผู้ช่วยอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยคัดกรองผลการค้นหาให้กับผู้ใช้ ซึ่งภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในการตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า หมายถึงธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ "การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่" (Big Data) ทำให้ปัจจุบันองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มีบริษัทที่ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้าทุกคนอย่างละเอียดและลึกซึ้ง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้า โอกาสทางการตลาด จุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้า ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมาย เรียกว่า Big Data จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการตลาดในปี 2559

โซเชียลเน็ตเวิร์กช่องทางขายฮิต

การเปลี่ยนแปลงที่มาแรงที่สุดในช่วงทศวรรษ 21 คงหนีไม่พ้นความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามของสมาร์ทโฟน ที่ติดมือติดใจประชาชนทุกซีกโลก โดยฟอร์บส์คาดการณ์ว่า ปี 2559 การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มือถือน่าจะมาแรงกว่าการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ยิ่งขึ้น หลังจากที่กูเกิลประกาศว่า ใน 10 ประเทศทั่วโลกมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากกว่าการใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ไปแล้ว

ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2558 สื่อออนไลน์หลายค่าย เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ฯลฯ มีการปรับตัวเช่นกัน โดยหลายเว็บไซต์ได้เปิดตัวฟังก์ชั่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงได้มากขึ้น ทำให้ "โซเชียลมีเดีย" มีบทบาทต่อโลกธุรกิจอย่างมาก และคาดว่ากลายเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของปี 2559 คือ ธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหนึ่งช่องทางการขายหลัก

โดยนิตยสาร "ฟาสต์คัมพานี" เผยผลจากการสำรวจการสร้างยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จากบริษัทแห่งหนึ่งระบุว่า 79% ของพนักงานขายที่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อกับลูกค้า สามารถทำยอดขายได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้, 65% ของลูกค้าระบุว่า สิ่งที่แบรนด์นำเสนอผ่านทางแชนเนลของตัวเอง มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก และกลุ่มลูกค้า 53% ระบุว่า พิจารณาจากความคิดเห็นและคำแนะนำของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ

นอกจากการสรรค์สร้างบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า เช่น การซื้อขายสินค้าที่มีการ "ปรับเปลี่ยน" ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็น "คนพิเศษ" และไว้วางใจแบรนด์ว่าจะสามารถจัดหาสินค้าที่ตอบโจทย์ได้ตรงใจจริง ๆ โดยเฉพาะคนในวัย "เจเนอเรชั่น Z" ที่นิยมอิสระในการเลือกคัดสรรสิ่งที่ต้องการมากที่สุดให้กับตัวเอง


"สตาร์ตอัพ" มาแรง

จากความสำเร็จอย่างท่วมท้นของสตาร์ตอัพตัวเล็กๆ อย่าง Airbnb, Dropbox และ Square ที่สามารถระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ได้อย่างล้นหลาม ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันไปถึงการเกิดขึ้นของยุค "ฟองสบู่ดอตคอม" อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2558 เราได้เห็นการชะลอตัวของการระดมทุนเพื่อปั้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีกันบ้างแล้ว โดยเชื่อว่าการชะลอตัวของแนวโน้มดังกล่าวน่าจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า

ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของกลุ่มเทคโนโลยีสตาร์ตอัพนี่เอง ทำให้หลายคนเริ่มมองถึงผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ และจริยธรรมในโลกธุรกิจว่า "สนองเป้าหมายตั้งต้น" ของการจัดตั้งบริษัทหรือไม่ โดยการระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมาก ทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง จนสุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝันในที่สุด

ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการในแบบที่ "เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด" ตลอดจนการลดทอนขั้นตอนและแผนกที่ไม่ตอบวัตถุประสงค์ออกไปจากบริษัท จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวรับมือกับความผันผวนอันเกิดจากปัจจัยภายนอกได้มากขึ้น ขณะที่พนักงานก็มีความสุขกับงาน จากการทำงานอย่างมีเป้าหมาย และได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์จากการทำงานได้มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook