"สะดวกซื้อ" เปิดศึก แข่งข้ามเซ็กเมนต์เดือด
น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับย่างก้าวใหม่ของร้านสะดวกซื้อ แม้ผู้นำตลาดร้านสะดวกซื้อ "เซเว่นอีเลฟเว่น" จะมีสาขาทิ้งห่างคู่แข่ง แต่สมรภูมิแข่งขันเต็มไปด้วยความร้อนแรงทุกมิติ รวมถึงปี 2559 ยังคงดีกรีเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตและรักษาส่วนแบ่งตลาด
ทั้ง ยุทธศาสตร์ "สาขา" ต่างเดินหน้าปูพรมให้ทะลุถึงเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งเจ้าตลาด "เซเว่นฯ" ที่ต้องการเปิดให้ครบ 10,000 สาขา ในปี 2561 จากที่มีอยู่กว่า 8,700 สาขา, ลอว์สัน 108 ตั้งเป้าทะลุ 1,000 สาขา ในปี 2562 หลังจากตลอดปีที่แล้วมีทั้งสิ้น 45 สาขา ปี 2559 ประกาศบุกต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและตะวันออก แฟมิลี่มาร์ทมีราว 1,200 แห่ง ต้องการให้ครบ 3,000 สาขา ในปี 2561
ยุทธศาสตร์ "สินค้า" โดยเฉพาะกลุ่มอาหารพร้อมทาน แต่ละค่ายยกขบวนเมนูอาหารมาประชันกันแบบไม่มีใครยอมใคร เรียกว่ามีแทบทุกเมนูอาหารทั้งคาวและหวาน อาทิ ปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ยำมะม่วง ข้าวโพดต้ม มะม่วงน้ำปลาหวาน ขนมปังปิ้ง ก๋วยเตี๋ยวเรือ ส้มสายน้ำผึ้งบรรจุแพ็กในเซเว่นฯ แฟมิลี่มาร์ทมีจำหน่ายบะจ่าง ข้าวมันไก่ สตรอว์เบอรี่ลอยแก้ว และจับมือซัพพลายเออร์พัฒนาสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ อาทิ แมกนั่ม โยเกิร์ต เฟรช ด้านลอว์สัน 108 สร้างความโดดเด่นด้วย "ออริจินอลโปรดักต์" โดยใช้โนว์ฮาวจากญี่ปุ่น ทั้งขนมหวาน เบเกอรี่ อาหารทอด ข้าวปั้น ข้าวราดหน้าต่าง ๆ อาทิ ชูครีม คุกกี้โดนัท ทาโกะยากิ เป็นต้น
แต่ความเคลื่อนไหวที่มีสีสันอย่างยิ่ง คือ กิจกรรมส่งเสริมการขาย ปีที่แล้วทุกค่ายอัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม รวมทั้งเซเว่นฯซึ่งปกติชูจุดขายความสะดวกใกล้บ้านส่งแคมเปญออกมาถี่ยิบ อาทิ ทุกวันที่ 7 ของเดือนจะมีแคมเปญใหม่ออกมา หรือเพิ่มของรางวัลให้ได้ลุ้นหลายต่อ ทั้งรับสิทธิ์แลกซื้อและยังได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 2 บาทต่อสิทธิ์ และยังได้ลุ้นเที่ยวญี่ปุ่นอีกด้วย แต่ละค่ายยังอัดแคมเปญยาวข้ามปี หวังเป็นโมเมนตัมส่งต่อมาถึงปีนี้
"ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์" ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ ร้านสะดวกซื้อ คือ การแข่งขันข้ามเซ็กเมนต์ ที่มีคู่แข่งทางอ้อม ทั้งกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตที่สยายปีกร้านค้าปลีกขนาดเล็กในรูปแบบของมินิซู เปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งสเปเชียลตี้สโตร์ต่างก็ขยายสาขามากขึ้น และมีสินค้าที่คาบเกี่ยวกัน ทั้งกลุ่มเพื่อสุขภาพความงาม ยา จึงเป็นอีกตัวแปรให้ต้องทำโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและสร้างตัวตนให้ชัดเจน
จากปัจจุบัน ร้านสะดวกซื้อขยายตัวปีละ 10% เนื่องจากการขยายสาขาของแต่ละราย ปี 2558 เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังเห็นการเปิดสาขา ทั้งยังมีโอกาสขยายตัวสูง แม้ว่าจะเห็นการเปิดสาขาใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ "ทำเลเกรดเอ" ก็ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมือง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวก ซื้อสินค้าน้อยชิ้น แต่ซื้อบ่อยครั้งขึ้น อีกทั้งร้านขนาดเล็กมีความคล่องตัว เพราะใช้งบฯไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา เท่ากับร้านสะดวกซื้อ 80-100 สาขา
"ทุกคนมีสายป่านยาว โอกาสล้มหายตายจากไม่มี แต่อาจจะมีปิดบางสาขา ถือเป็นปกติ แต่จำนวนสาขาเปิดใหม่มากกว่าสาขาที่ปิดไป เค้กไม่ได้อยู่กับที่ แต่เค้กขยายใหญ่ขึ้นตามความเป็นเมือง ถ้าพิจารณาสภาพเศรษฐกิจและจีดีพี ค้าปลีกค้าส่งปี 2538 มีมูลค่ารวม 4-5 แสนล้าน แต่ปี 2558 ขยับขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านล้าน ร้านสะดวกซื้อจึงน่าจะเพิ่มได้อีกเป็น 3 เท่า"
ทั้งนี้ ฉัตรชัยมองว่า จำนวนสาขาของเซเว่นฯที่ทิ้งห่างจากคู่แข่ง จึงจะเห็นค่ายอื่น ๆ พยายามสร้างฐานของตัวเอง และทำให้ตัวเองขึ้นมาเป็น "ผู้นำ" ในด้านอื่น ๆ แทน โดยที่เห็นได้ชัดคือ การเฟ้น "สินค้า" และ "บริการ" ที่แตกต่าง เพื่อเป็นจุดยืนและจุดขายของตัวเอง เช่น ชูความเป็นร้านสะดวกซื้อสไตล์ญี่ปุ่น
"ไม่ได้เป็นที่ 1 ด้านสาขา สามารถประกาศตัวตนเป็นผู้นำด้านอื่น ค่ายอื่น ๆ กำลังทำ อย่างลอว์สันต้องการเป็นเบอร์ 1 ของเจแปนนิสไลฟ์สไตล์ ซีเจเอ็กซ์เพรสเป็นเบอร์ 1 ของร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น"
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของร้านสะดวกซื้อยังเป็นเรื่องของกำลังซื้อ ซึ่งต้องพึ่งนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 2 และ 3 ขณะที่ไตรมาสแรกยังทรงตัว
จึงน่าจับตาจากนี้ แต่ละค่ายจะเฟ้นลูกเล่นการตลาดอะไรออกมาช่วงชิงกำลังซื้อและรักษาการเติบโตของยอดขาย