5 พืชเศรษฐกิจปี 2559 ปัจจัยลบรุมเร้า ห่วงเศรษฐกิจภูธรซึมยาว

5 พืชเศรษฐกิจปี 2559 ปัจจัยลบรุมเร้า ห่วงเศรษฐกิจภูธรซึมยาว

5 พืชเศรษฐกิจปี 2559 ปัจจัยลบรุมเร้า ห่วงเศรษฐกิจภูธรซึมยาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด ปี 2559 ราคาพืชเศรษฐกิจตกต่ำ ประเมินเม็ดเงินหายจากภูมิภาคกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท บั่นทอนกำลังซื้อในท้องถิ่น กระทบยอดขายธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่


ปี 2559 ถือเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายปัจจัยเกิดขึ้นต่อเนื่องข้ามปี เริ่มต้นจากพืชสำคัญอย่าง ข้าว ที่มีมูลค่าผลผลิตกว่า 3.5 แสนล้านบาทนั้น ยังประสบปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ในหลายพื้นที่ อีกทั้ง ราคาข้าวไม่อาจเพิ่มขึ้นได้แม้ปริมาณผลผลิตลดลงเพราะยังมีข้าวในสต็อกของรัฐบาลกว่า 13 ล้านตันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น แอฟริกาและจีน

นอกจากนั้น ยางพาราและมันสำปะหลัง ที่ส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก เศรษฐกิจก็ยังคงชะลอตัวกดดันราคาต่อเนื่องในปีนี้ ประกอบกับการเปลี่ยนนโยบายข้าวโพดของจีน ที่อาจกระทบกับการส่งออกมันสำปะหลังซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ในขณะที่ อ้อยเองก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่กดราคาน้ำตาลในตลาดโลก และท้ายสุด ปาล์มน้ำมันที่ราคาในประเทศสูงกว่าราคาคู่แข่งอย่างมาเลเซียก็มีแนวโน้มราคาลดลงจากภาวะสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีมากเกินไป

ทั้งนี้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด มีมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรขายได้มากกว่า 7.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่กระจายไปสู่ครอบครัวเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 34 มูลค่า 2.54 แสนล้านบาท รองลงมาคือภาคใต้และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 27 และ 19 คิดเป็นมูลค่า 2.01 และ 1.42 แสนล้านบาทตามลำดับ

ผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า มูลค่าผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 2559 จะลดลงประมาณ 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.52 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ลดลงมากที่สุด ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท จากราคาข้าวนาปีและราคามันสำปะหลังที่ลดลง เกษตรกรภาคใต้ได้รับผลกระทบรองลงมาจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ลดลง ทำให้เม็ดเงินหายไปจากพื้นที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ทำให้มีความกังวลเพิ่มเติม จากรายได้การขายผลผลิตที่ลดลงหลายหมื่นล้าน จะทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลง กระทบต่อยอดขายและสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่

เราคาดว่า ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจค้า/จำหน่าย ปุ๋ยและเคมีการเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร และกลุ่มสินค้าที่ราคาสูงและอายุใช้งานนาน สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังทำให้ธุรกิจรับซื้อหรือรวบรวมผลผลิตมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย


ดังนั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถูกรุมเร้าจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอในปีนี้ การช่วยพยุงเศรษฐกิจภูมิภาคและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญของการผลิกฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้ โดยต้องระวังเป็นพิเศษกับมาตรการช่วยเหลือที่อาจกระทบกับกลไกตลาด ส่งผลต่อโครงสร้างตลาดและกลไกราคา รวมถึงมาตรการที่ส่งผลให้มีการสะสมสต็อกสินค้าเกษตร เช่น นโยบายจำนำข้าว หรือ นโยบายรับซื้อยางพารา จนกลายเป็นสต็อกที่ต้องใช้เวลานานในการระบายออก และส่งผลกดดันราคาข้าวและยางพาราในระยะยาวดังที่เป็นอยู่ แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือในระยะสั้น แต่กลายเป็นดาบสองคมกลับมาส่งผลลบต่อเกษตรกรเองในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook