18 ข้อคิดสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการอิสรภาพทางการเงิน

18 ข้อคิดสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการอิสรภาพทางการเงิน

18 ข้อคิดสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการอิสรภาพทางการเงิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

maibat AomMoney Guru

ข้อคิดคอนโดเพื่อการลงทุนและอยู่อาศัยโดย Mr.Maibat

บทความแรกในชีวิตที่ผมลองเขียนลง Pantip ในปี 2556 ปรากฏว่าติดกระทู้แนะนำทั้งห้องสินธรและสีลม เลยอยากนำมาให้แฟนเพจได้อ่านกันครับ อาชีพมนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศมีรายได้มั่นคงแต่น้อยคนนักที่พบกับอิสรภาพทางการเงิน ผมขอแชร์แนวคิดจากประสบการณ์ตรง โดยที่ผมวางเป้าหมายส่วนตัวอยากมีอิสรภาพทางการเงินอายุไม่เกิน 45 ปี และมีทรัพย์สินที่สร้างรายได้เพียงพอใช้ไปตลอดทั้งชีวิต

1. จงรู้จักออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย
เคล็ดลับอยู่ที่ควบคุมความอยากของตนเองโดยทยอยซื้อของชิ้นใหญ่ อย่าซื้อทีเดียวติดกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ แพคเกจเที่ยว และรถยนต์ ให้เว้นช่วงห่างกันเป็นเดือนๆ เพราะความอยากของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญควรซื้อของที่มีโอกาสได้ใช้จริง ของที่ไม่คิดจะใช้ก็อย่าไปซื้อ ผมตั้งเป้าอัตราการออม 30-70% ของรายได้ทั้งปี ตามรายได้ที่มากขึ้น

2. จงเก็บเงินโบนัสไว้ให้ดี
เพราะเป็นเงินก้อนที่เอาไปลงทุนได้ ผมให้รางวัลตัวเองในแต่ละปีไม่เกิน 30% ของเงินโบนัสที่เหลือเก็บเอาไปลงทุน ทำอย่างนี้ได้เพราะผมมีความสุขในการเก็บเงินมากกว่าใช้เงิน

3. จงเริ่มเก็บเงินล้านบาทแรกให้ได้แล้วล้านต่อไปจะง่ายขึ้น
ผมคิดว่าคำกล่าวนี้จริง เพราะพอเราเรียนรู้วิธีการบริหารเงินที่ถูกต้องจนมีล้านบาทแรกได้ การหาล้านต่อไปไม่ใช่เรื่องยาก ประกอบกับเรามีทุนล้านแรกเอาไปต่อยอดความมั่งคั่งได้อีกด้วย

4. จงเลือกทำงานที่ตนเองชอบและถนัดในธุรกิจที่มีอนาคต
การหาจุดยืนที่เหมาะสมช่วยทำให้เงินเดือนและตำแหน่งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญควรเลือกทำงานกับเจ้านายฉลาดและส่งเสริมให้เราก้าวหน้า

5. จงใช้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือลดค่าใช้จ่าย
ควรใช้บัตรเครดิตซื้อของที่ต้องการซื้ออยู่แล้ว อย่าใช้จ่ายเกินตัว สาเหตุที่แนะนำจ่ายด้วยบัตรเครดิตเพราะได้ส่วนลด คะแนนสะสม และเงินคืนกลับมาดีกว่าการใช้เงินสด ผมใช้บัตรเครดิตหลายใบโดยชำระเต็มจำนวน และเลือกใช้บัตรที่ให้ส่วนลดสำหรับร้านค้านั้นๆมากที่สุด


แนะนำให้อ่าน: ทำนายดวงทางการเงิน

6. จงคิดมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ง่ายและเห็นผลจริง
ผมเคยทำสำเร็จมาแล้วโดยมาตรการแรก ทำเรื่องรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดดอกเบี้ย มาตรการสอง เอารถไปติดแก๊สเพื่อลดค่าน้ำมัน มาตรการสาม เปลี่ยนเคเบิลเป็นแบบไม่มีค่ารายเดือน พบว่าช่วยประหยัดไปปีละแสนบาท

7. จงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด
การลดภาษีช่วยเพิ่มเงินออมโดยตรง รายการลดหย่อนที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ ประกันชีวิต กองทุนรวม LTF/RMF ดอกเบี้ยบ้าน เครดิตภาษีหุ้นปันผล ผมจ่ายภาษีจริงน้อยกว่าครึ่งของภาษีที่คำนวณได้

8. จงเริ่มบันทึกการเติบโตของรายได้และทรัพย์สินทุกปี
การบันทึกช่วยให้เราเห็นจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุงและใช้กำหนดแนวทางไปสู่เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การเติบโตของรายได้ การเติบโตของทรัพย์สิน อัตราการออม และผลตอบแทนจากการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางบรรลุอิสรภาพทางการเงิน


แนะนำให้อ่าน: ตั้งแก๊งออมเงิน

9. จงหัดออมเงินแบบอื่นนอกจากฝากเงินธนาคาร
การออมเงินทางเลือก ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ และประกันชีวิต เป็นต้น อยากแนะนำให้ลองเพราะผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ผมออมเงินไว้หลากหลายรูปแบบประมาณ 40% ของสินทรัพย์สุทธิ

10. จงหัดลงทุนเพื่อให้มีรายได้เสริม
อนาคตอาจกลายเป็นรายได้หลักอีกทาง เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวมตราสารทุน ทอง คอนโด และขายของออนไลน์ ก่อนลงทุนต้องศึกษาให้รู้จริงและดูว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ผมเคยลองมาหลายอย่างปัจจุบันเน้นลงทุนกองทุนรวมกับคอนโดเป็นหลัก ลงทุนประมาณ 40% ของสินทรัพย์สุทธิ

11. จงเลือกทรัพย์สินที่มิใช่การลงทุนให้ดี
ได้แก่ บ้านและรถยนต์ที่เราใช้อยู่ เพราะไม่ได้เปลี่ยนกันบ่อยๆและถือว่าเป็นต้นทุนจมจนกว่าขายออกไป ผมเลือกบ้านในทำเลดี ราคาคุ้มค่า และไปทำงานสะดวก โดยไปเยี่ยมชมโครงการมาไม่น้อยกว่า 50 แห่งก่อนตัดสินใจซื้อ เลือกรถรุ่นที่เป็นที่นิยมของตลาด ราคาคุ้มค่า และไม่เสียบ่อย เพราะเราจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เงินอยู่ในนี้ประมาณ 20% ของสินทรัพย์สุทธิ

12. จงเรียนรู้การลงทุนโดยใช้เงินคนอื่น
เช่น การกู้เงินซื้อคอนโด เพราะเราจะได้กำไรมากจากเงินลงทุนน้อย ผมลงทุนคอนโดย่านพระราม 9 ซื้อไว้เมื่อ 5 ปีก่อนราคา 1.8 ล้านบาทโดยใช้เงินตนเอง 2 แสนบาทที่เหลือกู้ธนาคารผ่อนจ่ายเดือนละ 1 หมื่นบาท ปล่อยเช่ามาตลอดได้เดือนละ 1.4 หมื่นบาท ราคาตลาดปัจจุบันที่ขายกันในเว็บไซต์ราคา 2.8 ล้านบาท ถ้าขายไปจะได้กำไรประมาณ 1 ล้านบาทเท่ากับ 400% จากเงินลงทุนจริง และได้กำไรจากส่วนต่างค่าเช่ากับยอดผ่อนอีกด้วย

13. จงรักษาเครดิตบูโรของตนเองให้ดี
สิ่งนี้มีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร เช่น สมัครบัตรเครดิต กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ผมไม่เคยผิดนัดชำระทำให้การทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านตลอด

14. จงระวังวิกฤติเศรษฐกิจ
เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้คนรวยจนลงในพริบตา ความรู้เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญทำให้เข้าใจวงจรเศรษฐกิจที่มีทั้งเติบโตและตกต่ำสลับกันไปมาตลอด การสังเกตดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ช่วยให้ลงทุนถูกจังหวะและความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป

15. จงเลือกนำเงินไปลงทุนเฉพาะเงินเย็น
การลงทุนต้องใช้เวลาและมีโอกาสขาดทุน หากขาดทุนจริงเราจะได้ไม่เดือดร้อน ผมกำหนดเงินสดขั้นต่ำที่เอาไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน ส่วนที่เหลือก็เอาไปลงทุนได้

16. จงศึกษาหาความรู้เรื่องการเงินอย่างสม่ำเสมอ
ความรู้หาได้จากหนังสือ เข้าอบรมสัมมนา เว็บไซต์ เว็บบอร์ด แฟนเพจ ยูทูบ แอพพลิเคชั่น และเพื่อนๆ ช่องทางเข้าถึงความรู้มีมากมายทำให้เรามีความรู้ลึกซึ้งมากขึ้น

17. จงเรียนรู้จากการลงทุนผิดพลาดในอดีต
ทุกคนที่เคยลงทุนต้องเคยขาดทุนเป็นเรื่องธรรมดา ผมเองเคยขาดทุนจากวอเรนต์เกือบแสน เคยติดหุ้นวงในมาเกือบสิบปีเพิ่งจะขายได้ ผมไม่เลิกลงทุนในหุ้นแต่จะเลิกเล่นหุ้นในแบบที่เคยเจ็บตัว

18. จงมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ
เพราะความมุ่งมั่นจะเป็นแรงขับดันลึกลับที่จะพาเราไปถึงฝัน ผมทำข้อต่างๆที่กล่าวมาเป็นประจำจนเป็นนิสัย ซึ่งจะพาเราไปถึงฝันสักวันหนึ่ง การมีอิสรภาพทางการเงินคืออยากจะทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำอย่างแท้จริง โดยที่ยังมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่ต้องทำงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook