"อนันตพร"สั่งรื้อสูตรราคาน้ำมัน ไล่บี้ค่าการกลั่นลุ้นปั๊มลด 30 สต.

"อนันตพร"สั่งรื้อสูตรราคาน้ำมัน ไล่บี้ค่าการกลั่นลุ้นปั๊มลด 30 สต.

"อนันตพร"สั่งรื้อสูตรราคาน้ำมัน ไล่บี้ค่าการกลั่นลุ้นปั๊มลด 30 สต.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อนันตพร" สั่งรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น แก้สูตรโรงกลั่นฟันค่าการกลั่น 8-9 เหรียญ/บาร์เรล ผู้เชี่ยวชาญพลังงานระบุ ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดได้อีก 30 สตางค์/ลิตร กระทบรายได้โรงกลั่นกว่า 7,000 ล้านบาท

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ตกต่ำลงมาเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบเหลือแค่ 27 เหรียญ/บาร์เรล เบรนต์ 33 เหรียญ/บาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะขยับลงมาต่ำกว่านี้ แต่ "ค่าการกลั่น (Gross Refinning Mar-gin)" ของโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศกลับทรงตัวอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ อยู่ในระดับ 6-7 เหรียญ/บาร์เรล บางช่วงขยับขึ้นไปถึง 8-9 เหรียญ/บาร์เรล จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า โครงสร้างราคาดังกล่าวเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจน้ำมันหรือไม่ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าการกลั่น

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดส่งท้ายปี 2558 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้หยิบหยกสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นขึ้นหารือและมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาเชิงลึกค่าการกลั่นที่เหมาะสม

พล.อ.อนันตพร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นว่ามีขั้นตอนเป็นอย่างไร ไม่ได้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าสูตรค่าการกลั่นในปัจจุบันถูกหรือผิด แต่ต้องการทราบว่าราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายหรือไม่ โดยเฉพาะกำไรที่แต่ละโรงกลั่นได้จากค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นเหมาะสมหรือไม่

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เนื่องจากสูตรคำนวณที่ใช้อยู่ค่อนข้างเก่า และถูกกำหนดในช่วงที่ต้องการให้แต่ละโรงกลั่นในประเทศปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ได้มาตรฐานยูโร 4 ขณะนี้ได้รับงบประมาณศึกษาประเด็นการประกาศราคาหน้าโรงกลั่นเหมาะสมหรือไม่ เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จอาจเป็นไปได้ที่จะ "ปรับ" หรือ "เปลี่ยน" โครงสร้างราคา ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้

"อาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการเก็บข้อมูล เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศมีหลายโรง แต่ละโรงมีค่าการกลั่นไม่เท่ากัน ที่สำคัญ โรงกลั่นมีทั้งที่ยินดีให้ความร่วมมือกับไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลต้นทุนการกลั่น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก"

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกข้างต่ำ ดังนั้นไทยควรปรับสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นใหม่ เพื่อปรับลดสูตรราคาบางตัวที่ไม่จำเป็น อาทิ 1) ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่แต่ละโรงกลั่นลงทุนเพื่อให้ได้ตามสเป็กที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่คืนทุนหมดแล้ว 2) การสำรองน้ำมันตามกฎหมาย 3) อัตราค่าขนส่ง 4) ต้นทุนสารเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ MTBE ที่ไม่มีผสมในเนื้อน้ำมันแล้ว เปลี่ยนมาใช้เอทานอลแทน

เมื่อตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากสูตรโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น มีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงได้ประมาณ 30 สตางค์/ลิตร ซึ่งจะกระทบต่อ "รายได้" ของโรงกลั่นในประเทศรวม 7 โรง ประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี แต่เชื่อว่าเป็นการลดลงในระดับที่โรงกลั่นน้ำมันสามารถบริหารจัดการได้

"เมื่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลง ราคาขายปลีกหน้าปั๊มก็จะลดลงตามไปด้วย ผู้บริโภคได้ประโยชน์ อย่ามองเพียงว่า อุตสาหกรรมการกลั่นจะแย่เพราะเจอขาดทุนสต๊อกน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่การขาดทุนทางบัญชี ที่สำคัญค่าการกลั่นบางช่วงสูงมากที่ 8-9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปีนี้ก็คาดว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ฉะนั้นโรงกลั่นอย่าหวงไว้มากจนเกินไป"

ขณะที่ ดร.เรืองศักดิ์ ฐิติรัตน์สกุล รองผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันได้เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบการศึกษาเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย สำหรับค่าการกลั่นในปัจจุบันหากไม่คิดรวมค่าใช้จ่ายสามารถคำนวณได้จากการนำรายได้จากการขายน้ำมันแต่ละประเภทหักออกจากราคาน้ำมันดิบ ส่วน "ค่าการกลั่น" ที่หักค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าแรงงาน, ค่าวิศวกร, ระบบสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทน้ำมันนำมา "แฝง" ไว้ในค่าการกลั่น เช่น ค่าสำรองน้ำมัน, ค่าประกันภัย, ค่าขนส่ง, ค่าสูญเสียในระบบ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วไม่มีโรงกลั่นน้ำมันที่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ในทางปฏิบัติหากกระทรวงพลังงานปรับสูตรโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เท่ากับว่าราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการจะต้องปรับลดลงตามไปด้วย เว้นเสียแต่ว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายอย่างอื่น เช่น นำส่วนลดมาส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

"สูตรตัวนี้ไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน เป็นสูตรที่ สนพ.คำนวณไว้เพื่อให้แต่ละโรงกลั่นใช้เป็นตัวอ้างอิงราคา โจทย์การศึกษานี้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละโรงกลั่นมีการสั่งซื้อน้ำมันดิบและกระบวนการกลั่นที่แตกต่างกันออกไป"

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอให้ "ยกเลิก" สูตรราคาหน้าโรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ รวมด้วยค่าขนส่ง ค่าประกันภัย หลังจากนั้นให้แต่ละโรงกลั่นกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นเอง วิธีนี้จะทำให้ธุรกิจการกลั่นเกิดการแข่งขันที่แท้จริง เพราะหากมีการกำหนดราคาสูงกว่าราคาในตลาดโลกก็สามารถเปิดทางให้มีการนำเข้าน้ำมันอยู่แล้ว ทั้งนี้ภาครัฐไม่ควรมองเฉพาะในช่วงที่ค่าการกลั่นสูงเท่านั้น ในช่วงที่ค่าการกลั่นต่ำ โรงกลั่นน้ำมันขาดทุนก็มีสนพ.รายงานสำหรับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นล่าสุด น้ำมันเบนซิน 13.12 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันดีเซล 11.38 บาท/ลิตร ในขณะที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.75 บาท/ลิตร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook