ธปท.รุกแบงก์"ลดค่าฟี" โอนบาทเนต กางข้อมูลต้นทุนแบงก์-สมาคมธนาคารไทยอ้ำอึ้ง

ธปท.รุกแบงก์"ลดค่าฟี" โอนบาทเนต กางข้อมูลต้นทุนแบงก์-สมาคมธนาคารไทยอ้ำอึ้ง

ธปท.รุกแบงก์"ลดค่าฟี" โอนบาทเนต กางข้อมูลต้นทุนแบงก์-สมาคมธนาคารไทยอ้ำอึ้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ชาติเอาจริง สั่งสมาคมธนาคารไทยเจรจานายแบงก์ หาทางลดค่าฟีโอนบาทเนต ยันผลศึกษาโครงสร้างต้นทุนชี้ชัดสามารถลดลงได้ ชี้เป็นโอกาสดันช่องทางโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมการใช้งานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันค่าฟีบาทเนตขั้นต่ำ 100-150 บาท/ธุรกรรม ถ้าโอนข้ามจังหวัดจ่ายหมื่นละ 10 บาท ไม่เกิน 750 บาท ส.แบงก์แบ่งรับแบ่งสู้ ยันหารือสมาชิกหาทางลดค่าฟีทั้งระบบ

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการหารือร่วมกับทางสมาคมธนาคารไทย ให้เป็นตัวกลางหารือธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เรื่องการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของบาทเนต (BAHTNET) หรือระบบการโอนเงินรายใหญ่ทางอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากค่าธรรมเนียมในส่วนดังกล่าวสามารถลดลงได้อีก เพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในเบื้องต้น ทางสมาคมขอเวลาศึกษาข้อมูลดูโครงสร้างต้นทุน และความเป็นไปได้ในการดำเนินการก่อน

"ค่าฟีบาทเนตตอนนี้มองว่ายังสูงไป และคิดว่ายังสามารถลดลงได้ เพราะการทำธุรกรรมปัจจุบัน บางแบงก์อยู่ที่ 150 บาทต่อธุรกรรม บางแบงก์ 250 บาท ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คิดตามมูลค่าที่โอนด้วยจะมีค่าธุรกรรมถึง 1,000 บาท ถือว่าสูงเกินไป และไม่ส่งเสริมให้เกิดการโอนทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต ไม่ใช่โอนได้ทันที ยังต้องรอให้ระบบอีกฝั่งเชื่อมต่อกันด้วย" นางทองอุไรกล่าว

พร้อมกับระบุว่า หากแบงก์สามารถลดค่าฟีบาทเนตลงมาได้ น่าจะยิ่งส่งเสริมการทำธุรกรรมการโอนเงิน/ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อีกทั้งระบบบาทเนตยังสามารถตอบโจทย์การโอนเงินจำนวนมาก ๆ มูลค่าสูงได้ดี

อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบาทเนตผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำเฉลี่ย 100-150 บาท/1 รายการ สำหรับกรณีโอนเงินภายระหว่างบัญชีธนาคารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าโอนเงินข้ามเขตจังหวัด เช่น จากกรุงเทพฯไปภูมิภาค ค่าฟีจะถูกกำหนดในอัตราข้ามเขต โดยคิดค่าฟีเฉลี่ย 10 บาท /ยอดการโอน 10,000 บาท แต่คิดสูงสุดได้ไม่เกิน 750-850 บาท/รายการ

ขณะที่ค่าธรรมเนียมการทวงถามหนี้ที่ ธปท.กำหนดให้คิดไม่เกิน 100 บาท/ธุรกรรม เริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป นางทองอุไรกล่าวว่า ขณะนี้แบงก์ส่วนใหญ่เริ่มปรับค่าการทวงถามหนี้ลงแล้ว โดยที่มาของการกำหนดค่าฟีทวงถามหนี้ไม่เกิน 100 บาท/ธุรกรรม มาจากผลสำรวจของ ธปท. ที่เข้าไปดูต้นทุนการทำธุรกรรม และพบว่า ราคาดังกล่าวมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากแบงก์มีต้นทุนการทวงถามหนี้เกินกว่าค่าเฉลี่ยที่ ธปท.ศึกษา ก็สามารถแจ้งเรื่องเพื่อให้พิจารณาภายใต้หลักการที่ว่า สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและความโปร่งใส

"เรื่องนี้เน้นให้เกิดความโปร่งใส หากแบงก์สามารถชี้แจงต้นทุนค่าทวงถามหนี้ว่ามีค่าเฉลี่ยเกิน 100 บาท/ธุรกรรม ก็สามารถบอกมาได้ เพราะในอนาคตจะมีการเปิดเผยข้อมูลต้นทุนค่าฟีบนเว็บไซต์ ธปท.ทั้งหมด ซึ่งการทวงถามหนี้นี้ใช้ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์" นางทองอุไรกล่าว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อดูว่า ส่วนใดจะสามารถลดได้อีกบ้าง รวมถึงบาทเนตด้วย

"แต่เชื่อว่า หากอนาคตมีระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แบงก์ก็ต้องลดค่าฟีธุรกรรมต่าง ๆ ลง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น" นายบุญทักษ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook