น้ำดื่ม-ชาเขียว-เบียร์รับมือภัยแล้ง ขุดบ่อบาดาลตุนน้ำดิบ-เครื่องกรองเพิ่มกำลังผลิต
ธุรกิจเครื่องดื่มระทึก "น้ำดื่ม-ชาเขียว-เบียร์" ดิ้นพลิกตำรารับมือภัยแล้ง "สปริงเคิล" สั่งขุดบ่อบาดาลสำรองน้ำดิบกันเหนียว พร้อมเตรียมเครื่องกรองเพิ่มหากน้ำเค็มหนุน ขณะที่ "คริสตัล" สบช่องฉวยจังหวะทำตลาดรับร้อนเร็วขึ้น ทุ่ม 500 ล้าน เพิ่มกำลังการผลิตรับแนวโน้มตลาดโต ด้านค่ายชาเขียว "อิชิตัน-ยูนิฟ" เกาะติดสถานการณ์ เตรียมงัดแผนสำรองสู้ หากสถานการณ์วิกฤต ขณะที่ค่ายสิงห์ลั่นพร้อมรับมือ เตรียมเพิ่มกำลังผลิตรับไฮซีซั่น
"วิกฤต" ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ทั้งภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ เหลือปริมาณน้ำรวมกันที่ใช้การได้เพียง 20% รวมถึงเขื่อนต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ย 5-39% นอกจากภาคเกษตรกรรมที่จะกระทบโดยตรงแล้ว ภาคธุรกิจอย่างผู้ผลิตเครื่องดื่มก็ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนรองรับเพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องสะดุดตามไปด้วย
น้ำดื่มเตรียมขุดบาดาลช่วย
นายกฤตวิทย์ เลาหธนาพร กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่ม "สปริงเคิล" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทได้เตรียมแผนรับมือโดยการขออนุญาตทางกรุงเทพมหานคร เจาะบ่อบาดาลเพิ่ม 1 บ่อ ภายในบริเวณโรงงานผลิตแถวดอนเมือง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง หากเกิดกรณีฉุกเฉิน อาทิ การที่น้ำประปาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาน้ำเค็ม จากการที่น้ำทะเลหนุนสูงเพราะมวลน้ำจืดที่มีน้อย นอกจากนี้ยังได้เตรียมเครื่องกรองน้ำ และกระบวนการการปรับสภาพน้ำรองรับ เพื่อให้น้ำมีคุณภาพเทียบเท่ากับช่วงปกติ
นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมสำหรับการเพิ่มกำลังการผลิต หากความต้องการน้ำดื่มเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากภัยแล้ง หรือการเข้าสู่หน้าร้อน ที่เป็นช่วงที่น้ำดื่มมีโอกาสการขายสูงที่สุด โดยศักยภาพของโรงงานสามารถผลิตน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ 3 กะ แต่ปัจจุบันมีการใช้เพียง 1.5 กะเท่านั้น หากมีดีมานด์เพิ่มขึ้นก็สามารถเร่งผลิตได้ทันที
นางทิพย์ จั่นเทศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มตราสยาม และผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ เป๊ปซี่, การบินไทย, แม็คโคร, โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์ ฯลฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น และหลายฝ่ายคาดว่าจะมีความรุนแรง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการระวังในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับระบบสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพ
ลดการสูญเสียน้ำลง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตของโรงงานในจังหวัดปทุมธานี พบว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอ สามารถรองรับการผลิตทั้งในช่วงปกติ ซึ่งมีกำลังผลิตเฉลี่ย 1 ล้านขวดต่อวัน คิดเป็น 60-70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และในช่วงหน้าร้อน ที่ปริมาณการออร์เดอร์จากลูกค้าจะมีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปทำตลาด ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างไม่มีปัญหา
ขณะที่นายวิเวก ชาห์บรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่มคริสตัล ระบุว่า แม้ว่าโรงงานผลิตน้ำดื่มทั้ง 5 แห่ง อาทิ นครราชสีมา ปทุมธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และนครสวรรค์ จะมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ หรือมีกำลังการผลิตรวม 600 ล้านลิตรต่อปี และเพื่อรองรับความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดที่เติบโตมากขึ้น บริษัทมีแผนจะทุ่มงบฯ 500 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะช่วยขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 100 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งหน้าร้อนที่จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้ออกมาทำตลาดเร็วขึ้น จากปกติที่จะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่งแคมเปญ "น้ำดื่มไม่ได้เหมือนกันหมด" และมีแอมบาสซาเดอร์ ณภัทร เสียงสมบุญ มาช่วยให้การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมกับโฆษณาที่จะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.เป็นต้นไป และได้เตรียมขยายแวร์เฮาส์ ระบบไอทีรองรับ ตลอดจนการเพิ่มทีมขาย เพื่อให้การกระจายสินค้ามีความครอบคลุม
โดยปัจจุบันเสริมสุขมีรถส่งสินค้า 1,000 คัน มีเครือข่ายร้านค้ากว่า 2 แสนจุดขาย เพื่อรวมกับเน็ตเวิร์กของบริษัทในเครืออย่างไทยเบฟเวอเรจ มีความครอบคลุม 90-95% ของความต้องการตลาด
อิชิตัน-ยูนิฟ เร่งวางรับมือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตน้ำดื่มที่ออกมากางแผนตั้งรับภัยแล้งเท่านั้น ทางด้านของผู้ผลิตชาและน้ำผลไม้ อาทิ อิชิตัน และยูนิ-เพรสซิเดนท์ก็เตรียมรับมือกันอย่างเต็มที่
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ บริษัทได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมแผนรองรับ โดยในส่วนของโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมฯจะมีการขุดบ่อบาดาลเพิ่ม เพื่อนำมาเป็นแหล่งน้ำสำรอง
หากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรง รวมทั้งยังได้ซื้อเครื่องกรองน้ำไว้อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับกรณีที่น้ำประปาที่เป็นส่วนผสมหลักมีปัญหา และจะต้องนำน้ำบาดาลมาช่วยในการผลิต
อย่างไรก็ตาม ทางนิคมฯยังยืนยันว่าจำนวนน้ำในขณะนี้มีเพียงพอต่อความต้องการ
นายทนุ เนาวรัตน์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผักผลไม้รวมยูนิฟ ชาพร้อมดื่ม ยูนิฟ ที ฯลฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในกรณีเดียวกันว่า บริษัทมีการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด โดยมีการประชุมกับโรงงานผลิตที่นครปฐมทุกเดือน ซึ่งยังยืนยันว่าปริมาณแหล่งน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาลที่เป็นวัตถุดิบสำคัญยังคงมีมากพอ และคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการในช่วงหน้าร้อนที่จะถึง
"แหล่งน้ำจากพื้นที่ของเราค่อนข้างมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก อย่างวิกฤตภัยแล้งในปีที่ผ่านมากระทบหลายพื้นที่ โรงงานเราก็ยังสามารถเดินหน้าผลิตได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ"
"สิงห์" ลั่นพร้อมรับมือ
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความเห็นว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี บริษัทรวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่จึงมีแผนรองรับอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้การมองปัญหาภัยแล้ง ก็สามารถมองได้ทั้งการเป็นวิกฤตและโอกาสได้ หากผู้ประกอบการประเมินว่าดีมานด์ของสินค้าจะเพิ่มขึ้น แล้วเพิ่มกำลังการผลิต มีสต๊อกรองรับ ก็จะเป็นโอกาสทำยอดขายในช่วงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องดื่มในช่วงหน้าร้อนมีการบริโภคสูงกว่าช่วงอื่น ๆ เป็นประจำอยู่แล้วทุกปี โดยบริษัทก็มีแผนเพิ่มกำลังผลิตสินค้าอย่างน้ำดื่มรองรับในช่วงไฮซีซั่นดังกล่าวเช่นกัน