คมนาคมเขย่าใหม่ที่ดินบขส. ดับฝันแลนด์ลอร์ดโซนรังสิต
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดซื้อที่ดินสร้างอาคารผู้โดยสารสถานีขนส่งแห่งใหม่ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 80 ไร่ ยังไม่สามารถจัดหาที่ดินได้นั้น เนื่องจากแปลงที่ดินมีขนาดใหญ่ อาจจะหายากเพราะรวมทุกอย่างทั้งอาคารผู้โดยสารและที่จอดรถบนที่ดินแปลงเดียวกัน
ดังนั้นเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า หลังล่าช้ามานาน อาจจะทำให้การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารที่จตุจักรไม่เสร็จตามกำหนดที่รับปากไว้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงจะให้ บขส.กำหนดสเป็กจัดหาพื้นที่ใหม่ ให้ตัดแยกการพัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับอาคารผู้โดยสารจำนวนหนึ่ง อาจไม่ถึง 80 ไร่ และแยกที่ดินสร้างที่จอดรถทัวร์อีกส่วนหนึ่ง อาจจะอยู่ในทำเลใกล้กัน เช่น ลำลูกกาหรือถนนรังสิต-องครักษ์ ซึ่งการแบ่งที่ดินเป็น 2 ส่วน อาจจะทำให้ต้นทุนการจัดซื้อที่ดินถูกลง
นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่บขส.กล่าวว่า การประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมเสนอที่ดินครั้งที่ 3 มีเอกชนสนใจ 4 รายยื่นข้อเสนอ ขณะนี้ บขส.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเตรียมเสนอบอร์ด บขส.พิจารณาปลายเดือนมกราคมนี้ จะพยายามเร่งกระบวนการให้แล้วเสร็จภายใน 1-3 เดือนนับจากนี้
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจัดหาที่ดิน ยังยึดตามผลการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำหนดให้ 4 พื้นที่ ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 80 ไร่ ติดถนนพหลโยธินทั้งด้านซ้ายและขวา บริเวณด้านเหนือจากแยกถนนรังสิต-ปทุมธานี ก่อนถึงธรรมศาสตร์
ได้แก่ 1.ติดกับสนามบินดอนเมืองด้านฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ 2.ติดถนนพหลโยธินด้านเหนือ จากแยกถนนรังสิต-ปทุมธานี อยู่ฝั่งซ้ายมือก่อนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.ติดถนนพหลโยธินด้านเหนือ จากแยก ถนนรังสิต-ปทุมธานี ฝั่งขวามือก่อนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.ติดถนนรังสิต-ปทุมธานี ช่วงก่อนถึงทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยบริเวณที่ 2 มีความเหมาะสมที่สุด
ก่อนหน้านี้ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานบอร์ด บขส.กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามาเสนอที่ดินบริเวณตอนเหนือ ย่านรังสิตที่ผ่านมาถูกยกเลิกไปเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ติดสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ทั้งนี้จะเร่งกระบวนการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จในปี 2563 เพื่อคืนพื้นที่ให้ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ
สำหรับขั้นตอนหลังได้แปลงที่ดินแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบโครงการ จะใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท ใช้กระแสเงินสดของ บขส.ก่อสร้างเมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว ถึงเริ่มประกวดราคาหาที่ปรึกษามาออกแบบการก่อสร้าง พร้อมกับประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป