PIN เปลี่ยนกองขยะเป็นขุมทอง
“เมื่อคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เขาจะเริ่มสนใจที่มาที่ไปของสินค้า ซึ่งถ้าเรามองเป็นขยะก็มองได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการจัดการกับขยะเหล่านั้นมากกว่า ปิ่นเชื่อว่าลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อเขามองถึงแนวคิดที่ปิ่นจัดการกับขยะนี้เป็นสำคัญ ปิ่นเชื่อว่าแม้กระแสนี้จะซาไปลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังคงอยู่ ลองคิดดูว่าเรามีการผลิตสินค้าต่างๆ ออกมาทุกวัน ขยะย่อมเพิ่มขึ้น เราน่าจะนำขยะนั้นมาเพิ่มมูลค่าเสียจะดีกว่า ปิ่นอยากให้ลองหันมามองสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะมันอาจจะมีคุณค่าก็ได้หากเราจัดการมันดีๆ ”
ข้อความด้านบนเป็นคำพูดของ พรพรรณ เกียรติภาคภูมิ หรือ ปิ่น เจ้าของแบรนด์ ‘พริ้งเพรียว’ ที่ได้กล่าวไว้เมื่อ เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ถึงมุมมองที่เธอมีต่อธุรกิจ Recycle
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาถึงวันนี้ความคิดนั้น ก็ยังไม่แปรเปลี่ยน มีเพียงแบรนด์ "พริ้งเพรียว" เท่านั้น ที่ถูกเปลี่ยนเป็น "PIN" เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า "พริ้งเพรียว" เป็นชื่อที่เรียกยาก จำยาก จึงใช้ชื่อเล่นของตัวเองแทน เพราะคนจะจำเธอซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ได้
การหยิบชื่อเล่นมาเป็นแบรนด์ ได้สร้างพลังให้ปิ่นตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านตัวงานและระบบการคิดอย่างไม่ลดละ โดยเข้าร่วมอบรมกับองค์กรที่ส่งเสริม SME ต่างๆ อยู่เสมอ จนทำให้คุณสมบัติด้านการนำเอาวัสดุเหลือใช้อย่างเศษเหล็กมาออกแบบจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ได้รับการต่อยอดในเชิงความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม กลายเป็นสินค้าที่มีตัวตนชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
“ตอนนี้ปิ่นเน้นสร้างงานชิ้นใหญ่ขึ้น จากเดิมที่เป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ โคมไฟ เชิงเทียน นาฬิกาแขวน ก็ปรับมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ถาดวางของ และกระจกเงา เนื่องจากงานชิ้นเล็กกับงานชิ้นใหญ่ใช้ระยะเวลาทำเท่ากัน เหนื่อยเท่ากัน แต่ชิ้นใหญ่ขายได้เงินมากกว่า ต่างจากช่วงแรกที่ทำชิ้นเล็กๆ เพราะคิดว่าการฝากขายต้องขนย้ายสะดวก”
แม้งานชิ้นใหญ่ทำเงินได้มาก แต่ปิ่นยังมีงานเหล็กอีกส่วนหนึ่งในรูปแบบ Mood & Tone ที่เน้นใช้สีพื้นฐานไม่ฉูดฉาดอย่าง สีขาว เทา ดำ ทอง พร้อมออกแบบลายเหล็กให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนแม้แต่นักออกแบบตกแต่งภายในยังดูไม่ออกว่าเป็นงานจากเศษเหล็ก ส่วนนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้มีคนสนใจอีกด้วย
เกี่ยวกับการทำตลาดนั้นปิ่่นพบว่าการออกงานทำให้ได้เจอลูกค้าหลายแบบ และเห็นว่าแต่ละบุคคลมีมุมมอง ความชอบแตกต่างกัน บางคนมองว่ามันคือเศษเหล็ก เป็นขยะ ทำเองก็ได้ ซึ่งคนไทยมีความคิดแบบนี้เยอะ แต่ชาวต่างชาติจะมองว่าเป็นงานที่มีคุณค่า น่าสนใจ เขาจะสั่งทำเป็นเซ็ตเพราะเห็นศักยภาพในการทำงาน ซึ่งงานของปิ่นเน้นกลุ่มคนอายุ 35 – 60 ปีที่มีกำลังซื้อประมาณหนึ่ง ไปแต่งบ้าน เพราะลักษณะงานมีความจริงจังมากขึ้น
นอกจากการออกบูธตามงานต่างๆแล้ว ปิ่นก็ไม่พลาดที่จะทำตลาดบนเฟซบุ๊คที่กำลังฮิตเช่นกัน แต่ปิ่นมองว่าช่องทางการตลาดแบบนี้เป็นเหมือนส่วนที่ช่วยทำให้ตนเองมีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นมากกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ชอบสัมผัสของจริง และบางคนก็ไม่ชอบซื้อของออนไลน์
“แม้การออกสื่อจะมีส่วนช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องพยายามสื่อสารด้วยว่าแบรนด์ของเราเป็นอย่างไร ต้องพูด ต้องบอก ซึ่งงานของปิ่นนั้นเป็นการมองเห็นความสวยงามอันถูกมองข้าม แล้วหยิบมารังสรรค์เป็นสิ่งใหม่อันมีคุณค่า ทั้งยังช่วยลดมลพิษในการหลอมเหล็กอีกด้วย”
ปัจจุบันงานของเธอวางขายอยู่ที่ TCDC Shop, ECO Shop, Museum Siam และร้าน Hallo nimman จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปิ่นได้วางแผนไว้แล้วว่าต่อจากนี้จะทำการตลาดโดยออกบูธอย่างจริงจัง
เรื่อง : enayble
ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์ / ปิยชาติ ไตรถาวร