เจ้าสัวรุมบิ๊กโปรเจ็กต์ 3 แสนล้าน บีทีเอสผนึกซิโน-ไทยชิงโมโนเรล
รัฐงัด PPP Fast Track เทกระจาดประมูลกว่า 3 แสนล้าน กระตุกต่อมเอกชนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จับตา "4 เจ้าสัว" เมืองไทย รุมระบบราง-รถไฟฟ้า- โมโนเรล-ไฮสปีดเทรน 3 แสนล้าน
แหล่งข่าวจากวงการคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการขนาดใหญ่แบบ PPP Fast Track สำหรับ 5 โครงการแรกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วในปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการขับเคลื่อนการลงทุนมีแนวโน้มสูงที่ 2 บริษัทในวงการรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจเดินรถไฟฟ้าจะร่วมลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์
BTS จับคู่ซิโน-ไทย
โดยเฉพาะ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี กับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จะจับมือกันประมูลรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.5 กม.และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กม. เงินลงทุนรวม 98,475 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืน) แยกเป็นสีชมพู 49,844 ล้านบาท สีเหลือง 48,631 ล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เอกชนลงทุนทั้งงานก่อสร้าง ระบบและตัวรถ ในรูปแบบ PPP Net Cost (สัมปทาน) เพราะแม้ใช้เงินลงทุนสูง แต่บีทีเอสมีความพร้อมและประสบการณ์กับโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ลงทุนโดยเอกชนทั้งโครงการมาแล้ว อีกทั้งเงินทุนก็เพียงพอ ขณะที่ซิโน-ไทยฯมีความแข็งแกร่งงานก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งสีม่วง สีน้ำเงิน และสีเขียว
"ความพร้อมของบีทีเอส คือมีเงินสดในมือพร้อมลงทุน และสามารถระดมทุนเพิ่มเพื่อลงทุนได้ 1 แสนล้านบาท ยังมีพันธมิตรจากผู้ผลิตจากจีน เพราะเคยสั่งซื้อรถบีทีเอสมาแล้ว"
ตุนเงินรอ 6.8 หมื่นล้าน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอสซี เปิดเผยว่า บริษัทมีเงินทุน 6.8 หมื่นล้านบาท เป็นเงินสด 2 หมื่นล้านบาท และสิทธิการออกหุ้น 4.8 หมื่นล้านบาท พร้อมร่วมลงทุน PPP รถไฟฟ้าได้ 1 แสนล้านบาท ทั้งเดินรถสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) ก่อสร้างและเดินรถสายสีชมพูและสีเหลือง การเดินรถขนส่งสินค้ารถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบัง แต่ยังรอดูเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดในทีโออาร์
"โมโนเรลสายสีชมพูและเหลืองสนใจมานานแล้ว สายสีชมพูจะต่อเชื่อมสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต ที่บริษัทสนใจจะเดินรถให้ กทม. จุดเชื่อมต่อกันที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตอนนี้กำลังหาพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม รวมถึงดูเงื่อนไขทีโออาร์ว่ารัฐจะสนับสนุนอะไรบ้าง"
ขณะที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สนใจจะร่วมลงทุน PPP สายสีชมพูและสีเหลือง ซึ่งจะก่อสร้างเป็นระบบโมโนเรล และให้เอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและเดินรถในสัญญาเดียว ขณะนี้กำลังหารือกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าจีน ญี่ปุ่น
ช.การช่างลุยก่อสร้างพ่วงเดินรถ
ด้าน "ช.การช่าง" แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่างระบุว่า สนใจสายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่) 23 กม. ซึ่งจะเปิดบริการเดือน ส.ค. 2559 และการเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 27 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบรรจุใน PPP Fast Track และจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) PPP เดือน เม.ย.นี้ เพื่อต่อยอดกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่บริษัทได้รับสัมปทานเดินรถให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์และคาดหวังกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) กำลังจะประมูลก่อสร้าง เงินลงทุน 110,325 ล้านบาท จะต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินเดิมที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมออกไปยังมีนบุรี ทำให้การให้บริการรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ในเมืองและเชื่อมการเดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก เพราะอนาคตสายสีส้มจะต่อจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมไปตลิ่งชัน
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผยว่า บริษัทถือหุ้น 30% ใน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) ที่ควบรวม บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BECL) มีทุนจดทะเบียน 15,285 ล้านบาท แข็งแกร่งและมีศักยภาพพอรับงานใหญ่ที่รัฐจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน บริษัทสนใจทั้งเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทั้งระบบรางและถนน และบริษัทใหม่จะเปลี่ยนมิติการทำธุรกิจครบวงจร รับทั้งงานรถไฟฟ้า ทางด่วน และต่อยอดธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์
ITD จีบต่างชาติร่วมทุน
ขณะที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ แม้มีงานในมือมาก แต่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ก็สนใจประมูลสายสีชมพูและสีเหลือง แต่บริษัทสนใจเฉพาะงานก่อสร้างโยธา จึงต้องหาพันธมิตรด้านการเดินรถมาร่วม โดยกำลังเจรจาบริษัทญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยุโรป
จีน-ญี่ปุ่นชิงดำเค้กโมโนเรล
ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตรถไฟฟ้ากล่าวว่า สายสีชมพูและเหลืองเป็นที่สนใจของผู้ผลิตรถต่างชาติมาก หากใครได้งานจะกลายเป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย ตามแผนของ รฟม.ต้องการจัดซื้อรวม 295 คัน แยกเป็นสีเหลือง 64 คัน สีชมพู 231 คัน
สำหรับระบบโมโนเรลหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวจะมีข้อจำกัดคือผู้ก่อสร้าง ออกแบบและเดินรถจะเป็นรายเดียวกัน ดังนั้นการประมูลจึงต้องแพ็กเป็นสัญญาเดียว โดยผู้รับเหมา ผู้เดินรถ และผู้ผลิตรถจะรวมตัวมายื่น อยู่ที่ว่าจะเลือกระบบของประเทศไหน
"ในโลกมีผู้ผลิตรถโมโนเรล 3-4 ประเทศ เช่น รถไฟฟ้าฉงชิ่งจากจีน, ฮิตาชิจากญี่ปุ่น บอมบ์บาดิเอร์จากแคนาดา และสโคนี่จากมาเลเซีย แต่ดูแล้วน่าจะเป็นจีนกับญี่ปุ่นเพราะเริ่มเข้ามาเปิดตลาดในไทยแล้ว จากการขายรถบีทีเอสและสายสีม่วง"
ซีพีขอเช่ารางรถไฟเดินรถไฮสปีด
ส่วนความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงที่ "ซีพีและไทยเบฟ" สนใจลงทุน นายคณิศ แสงสุพรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทส่งผลการสำรวจพื้นที่และข้อเสนอแนะให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้ว หลังยื่นข้อเสนอแสดงความสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง 193.5 กม. เงินลงทุน 152,528 ล้านบาท ร่วมกับพันธมิตร คือ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่นจากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทด้านก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนาน กรุ๊ป เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ
ผลการลงพื้นที่ พบว่าแนวเส้นทางทับซ้อน 4 โครงการ คือต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟไทย-จีนช่วงฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด, รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทำให้มีข้อจำกัดในการก่อสร้าง จึงมีข้อเสนอว่าถ้าจะทำให้โครงการเร็วขึ้น บริษัทจะลงทุนเฉพาะงานระบบรถและขอเช่ารางของรถไฟไทย-จีนช่วงฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด เดินรถไฮสปีดเทรน ส่วนจะต่อมายังกรุงเทพฯจะหารือกันต่อ เราพร้อมช่วยเต็มที่ ขอให้รัฐชัดเจน"
ไทยเบฟรอผลศึกษา
ด้าน "กลุ่มไทยเบฟฯ" ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี สนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน 211 กม. 94,673 ล้านบาท นายวันชัย ศารทูลทัต อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และเป็นผู้บริหารของ บจ.ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลโครงการ ไม่สามารถให้รายละเอียดได้
ขณะที่นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุน PPP รถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางแล้ว จะแล้วเสร็จ มี.ค.นี้ จากนั้น เม.ย.-พ.ค.จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอให้บอร์ด PPP อนุมัติ ตามโครงการ PPP Fast Track ควบคู่กับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มั่นใจว่าปลายปีนี้จะเริ่มต้นโครงการได้
"ส่วนซีพีและไทยเบฟที่ยังสนใจจะลงทุน เราก็ส่งผลการศึกษาให้แล้ว แต่เมื่อเข้า PPP ก็ต้องเปิดประมูลให้รายอื่นร่วมแข่งขันด้วย"
เคาะ 60:40 ลงทุนรถไฟไทย-จีน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า วันที่ 28-30 ม.ค.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เดินทางไปจีนเพื่อเจรจาการลงทุนรถไฟไทย-จีนตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มอบหมาย โดยให้ธงไปเจรจาการลงทุนเป็นรูปแบบตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) ซึ่งจีนและไทยจะลงทุนร่วมกันทั้งก่อสร้าง งานระบบและเดินรถด้วย สัดส่วน 60:40 จากเดิมจีนลงทุน 40% เฉพาะการเดินรถ เพื่อให้จีนรับความเสี่ยงโครงการทั้งหมดด้วย
"ถ้าจีนยอมตกลงลงทุน 60% ไทยจะหารือถึงการก่อสร้างช่วงแรกกรุงเทพฯ-โคราช เรื่องค่าก่อสร้าง ซึ่งไทยกำลังตรวจสอบผลศึกษาจีน จะใช้เงินลงทุนช่วงนี้กว่า 2.2 แสนล้านบาท เช่น ถ้าได้ข้อสรุปค่าก่อสร้างไม่เกิน 2 แสนล้านบาท คิดตามสัดส่วนการลงทุน 60:40 เท่ากับไทยลงทุน 8 หมื่นล้านบาท"
ดึงเอกชนเก็บเงินมอเตอร์เวย์
ความคืบหน้าของการลงทุนมอเตอร์เวย์ แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมจะให้เอกชนลงทุน PPP Fast Track ระบบเก็บเงินค่าผ่านทางสายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุน จะเสนอคมนาคมพิจารณา มี.ค.นี้ รวมถึงการบริหารจัดการที่พักริมทางตลอดแนวมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทางด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องปรับเปลี่ยนจากเงินกู้มาใช้เงินงบประมาณก่อสร้างแทน อาจเป็นไปได้ที่เมื่อโครงการก่อสร้างไประยะหนึ่งอาจให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งโครงการรวม 140,220 ล้านบาท
"ความคืบหน้าการประมูลก่อสร้างขณะนี้ทยอยเปิดประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างเสร็จปีนี้ ล่าสุดเตรียมของบกลาง 5 พันล้านบาท เซ็นสัญญากับผู้รับเหมา 65 สัญญาเริ่มต้นโครงการ เพราะคลังหาเงินกู้ให้ไม่ทัน"
บอร์ด PPP เร่งไฮสปีด
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บอร์ด PPP ขอให้คมนาคมและ ร.ฟ.ท.นำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง มาอยู่ใน PPP Fast Track ขณะนี้กำลังศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน
"การนำบางโครงการเข้ามาอยู่ PPP Fast Track จะสามารถร่นกระบวนการ PPP เหลือ 6-8 เดือน จากเดิม 2 ปีกว่า"
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของคมนาคม 5 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 334,000 ล้านบาท