สินค้าอินโด-มาเลย์-เวียดนามทะลัก วางเต็มแผงโชห่วย-ขึ้นห้าง"เล่นราคา"ตีแบรนด์ไทย

สินค้าอินโด-มาเลย์-เวียดนามทะลัก วางเต็มแผงโชห่วย-ขึ้นห้าง"เล่นราคา"ตีแบรนด์ไทย

สินค้าอินโด-มาเลย์-เวียดนามทะลัก วางเต็มแผงโชห่วย-ขึ้นห้าง"เล่นราคา"ตีแบรนด์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สินค้าอาเซียน "อาหาร-สแน็ก" ทะลักบุกไทย กลุ่มทุนอินโด-มาเลย์-เวียดนาม ลุยเต็มรูปแบบด้วยโครงสร้างต้นทุนผลิตเขย่าราคาสินค้าแบรนด์ไทยได้ไม่ยาก ปูพรมสินค้าครอบคลุมทั้งเทรดิชั่นนอลและโมเดิร์นเทรด "สหพัฒน์" ตั้งการ์ดรับมือ วงการชี้ต้องจับตาหวั่นลูกค้าปันใจ ผู้ประกอบการไทยสบช่องผันตัวเพิ่มบทบาท "ดิสทริบิวเตอร์" นำเข้ามาขาย

ตลาดอาเซียนที่เติบโตและขยายตัวอย่างมหาศาล ไม่เพียงภาพการเคลื่อนทัพของกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ออกไปเปิดตลาดใหม่และ กำลังซื้อใหม่ ๆ เท่านั้น ในทางเดียวกัน "กลุ่มทุน" จากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้บุกเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า "อาหารและคอนซูเมอร์โปรดักต์" ที่หลั่งไหลเข้ามาสร้างสีสันและชิงส่วนแบ่งตลาด

"อินโดฯ-เวียดนาม-มาเลย์" บุก

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจโมเดิร์นเทรด ทั้งในส่วนร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต พบว่าปัจจุบันมีสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาวางจำหน่ายในไทยมากขึ้น จากเดิมโดยเฉพาะในกลุ่มสแน็กและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "อินโดหมี่"จากอินโดนีเซีย, ขนมช็อกโกพาย "โอริออน"จากเวียดนาม, ขนมอบกรอบ "สเน็ค คู" จากมาเลเซีย

ซึ่งมีผู้นำเข้าสินค้าทั้งรายใหญ่รายเล็ก อาทิ ซีโน-แปซิฟิค, แมสมาร์เก็ตติ้ง, พิริยพูล อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีพอร์ตสินค้าจากอาเซียนอยู่ในมือ เช่น บริษัท แมสมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่าย กย.15 ที่นำมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ เฟอร์เฟ็กโต จากมาเลเซีย เข้าไปขายในเซเว่นอีเลฟเว่นบางสาขา เช่นเดียวกับ บริษัท เฮาเหว่ย (ประเทศไทย) จำกัด ที่นำสแน็กจากมาเลเซีย อาทิ เวเฟอร์ สแนคกี้, แครกเกอร์ส ลักชูรี เข้ามาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต

ขณะที่กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากแบรนด์ อินโดหมี่ จากอินโดนีเซียที่นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โดมิเนียน เคมเมท จำกัด ก็พบว่ามีแบรนด์จากสิงคโปร์อย่าง "โคคา" ที่ทางช่องทางจำหน่ายอย่าง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ได้นำเข้ามาขายในท็อปส์ มาร์เก็ต ทั้งในรูปแบบซองและถ้วย

"สหพัฒน์" ตั้งการ์ดรับมือ

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปิดเออีซี

กลายเป็นความท้าทายของตลาดสิน ค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ จากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีคุณภาพดีในต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงสามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการในไทยได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาที่ตอบรับกับสภาพกำลังซื้อในปัจจุบัน ทำให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงยิ่งขึ้น

ดังนั้นทิศทางของผู้ผลิตในไทย จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์ รับมือกับการแข่งขันต่อจากนี้ที่จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ ทยอยเข้ามาในตลาดมากขึ้น

สอดคล้องกับนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูลจำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สินค้าจากเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาตามการเคลื่อนย้ายของประชากรที่คาดว่าน่า จะมีคนในกลุ่มอาเซียนที่เดินทางเข้ามาทำงาน หรือท่องเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มมีผู้ประกอบการจากอินโดนีเซียเข้ามา ทำตลาดแล้ว

"แม้ว่ารสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากโซนอินโดนีเซีย มาเลเซียที่เข้ามาขายในปัจจุบันอาจจะยังไม่ถูกปากคนไทยมากนัก คาดว่าเพื่อรองรับความต้องการของคนอาเซียนที่เข้ามาในไทยมากกว่า แต่ก็เริ่มมีสินค้าจากเพื่อนบ้านไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ก็จับตาดูอยู่ และเราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เพื่อรับมือกับการแข่งขันทั้งจากแบรนด์ในและต่างประเทศ"

ต้นทุนดีกว่า "เล่นราคา" ตีตลาด

เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและซอสปรุงรสภายใต้แบรนด์ "โรซ่า" ที่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในกลุ่มสินค้าอาหาร พบว่ามีสินค้าจากผู้ผลิตมาเลเซีย อินโดนีเซียที่เข้ามาทำตลาดแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งเวียดนามกลายเป็นผู้เล่นที่มาแรงมากทั้งในตลาดเมืองไทยเองและตลาดซีแอล เอ็มวี โดยเฉพาะในกลุ่มสแน็กและซอสปรุงรสอาหาร

โดยสามารถทำราคา สินค้าได้ถูกกว่าเนื่องจากได้เปรียบในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงการผลิต ขณะที่คุณภาพของสินค้าก็ใกล้เคียงกัน สอดรับกับสภาพกำลังซื้อของลูกค้าคนไทยเวลานี้ โดยมีการนำสินค้าผ่านตามตะเข็บชายแดนเข้ามาทางภาคอีสาน ขายเข้าเทรดิชั่นนอลเทรดอย่างร้านโชห่วย ตลอดจนห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่

"ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจของผู้ผลิตต่างประเทศทั้งในและนอกอาเซียน อย่างในกลุ่มปลากระป๋องเองก็เห็นแนวโน้มที่จะมีแบรนด์โลคอลของเวียดนามที่ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีผู้ผลิตไทยบางรายที่ไปลงทุนสร้างโรงงานในเวียดนาม แล้วนำเข้าสินค้าเข้ามา"

ผันตัวสู่ "ดิสทริบิวเตอร์"

เช่นเดียวกับนายรุจ ทองเป้า ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เยเนอรัลแคนดี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกอมฮาร์ทบีท ที่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากการสร้างแบรนด์สินค้าเองแล้วนั้น บริษัทยังเดินหน้านำเข้าขนมจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายเพื่อเสริม พอร์ตในกลุ่มสินค้าที่บริษัทยังไม่มี ซึ่งมีแผนจะนำมาจำหน่ายเพิ่มเติมอีก 4-5 แบรนด์ จากปัจจุบัน

ที่นำเข้ามาแล้วประมาณ 5-6 แบรนด์ จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อาทิ เลเยอร์เค้กแบรนด์ฟูโด จากมาเลเซีย กลุ่มช็อกโกแลตเวเฟอร์แบรนด์สตาร์สติคจากอินโดนีเซีย วาฟเฟิลแบรนด์ริชชี่จากเวียดนาม ฯลฯ และเน้นกระจายสินค้าในช่องทางเทรดิชันนอลเทรด

"เราอยากจะมีสินค้าในมือมากขึ้น ส่วนพาร์ตเนอร์ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ขนมในอาเซียนก็ต้องการเข้ามาขยายตลาดใน ไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อพอสมควร แม้การเติบโตของตลาดขนมในไทยเวลานี้จะไม่สูงแต่ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ และหากประสบความสำเร็จในไทย ก็เป็นโอกาสให้ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกสเต็ปหนึ่ง"

ด้าน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีสินค้าจากเพื่อนบ้านทยอยเข้ามาสักระยะหนึ่งแล้ว มีบริษัทนำเข้ารายเล็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสแน็กจากมาเลเซีย หรือเวียดนามที่มีความแข็งแรงได้การผลิตอาหารกลุ่มนี้ด้วยต้นทุนที่ดีกว่าทำ ให้มีราคาถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยตอนนี้จะยังไม่ดี แต่การเข้ามาก่อนก็เป็นโอกาสที่จะได้ชิงตลาดก่อน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือดนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook