สหรัฐเตรียมคุมสินค้าประมงนำเข้าผิด กม. 16 ชนิด เช่น กุ้ง ทูน่า เป๋าฮื้อ ปูม้า
สหรัฐคุมเข้มอาหารทะเล10ปท.
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือโนอา ประกาศว่าจะควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายด้วยการตรวจสอบที่มาของอาหารทะเลที่นำเข้ามายังสหรัฐ 16 ชนิด อาทิ ปลาทูน่า กุ้ง เป๋าฮื้อ ปูม้า ปูยักษ์คิงแครป ปลิงทะเล และผลิตภัณฑ์จากฉลามทุกชนิด สหรัฐเห็นว่าเป็นสินค้าประมงที่มีความอ่อนไหวและเสี่ยงจะมีการกระทำผิดกฎหมาย โดยจะเก็บข้อมูลของสินค้าประมงเหล่านี้ตั้งแต่การจับ การนำสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ระบบจัดเก็บ ไปจนถึงกระบวนการแปรรูป
เอเอฟพีระบุว่า สินค้าประมงที่ถูกจับตามธรรมชาตินำเข้ามายังสหรัฐส่วนใหญ่มาจาก 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย เอกวาดอร์ แคนาดา เม็กซิโก และชิลี ขณะที่วารสารนโยบายเกี่ยวกับทะเลของสหรัฐที่ตีพิมพ์ในปี 2557 ระบุว่าสินค้าประมงที่ถูกจับตามธรรมชาตินำเข้ามายังสหรัฐในแต่ละปีราวร้อยละ 32 เป็นสินค้าผิดกฎหมาย มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 72,000 ล้านบาท
ไอยูยูป้องกันอาหารทะเลผิดกม.
แคเธอรีน โนเวลลี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฝ่ายการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในความพยายามจะทำโครงการจะสามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างรอบด้านเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าอาหารทะเลที่ผิดกฎหมายหรือมาจากการฉ้อฉลเข้ามาในตลาดสหรัฐ ทั้งนี้ตามกรอบเวลาที่วางไว้จะเปิดโอกาสให้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอนี้เป็นเวลา 60 วัน หรือถึงช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนจะได้ข้อบังคับสุดท้ายในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม
โนอาระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในคำแนะนำที่คณะทำงานต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) และการฉ้อโกงในอุตสาหกรรมประมง ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทรัพยากรประมงทั่วโลกจะได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและไม่มีการขายสินค้ามาจากการฉ้อฉลใดๆ
องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านทะเลยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและเห็นว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญแต่ร้องขอให้มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากข้อเสนอนี้จะตรวจสอบสินค้าเฉพาะจุดที่มีการนำเข้ามายังสหรัฐเท่านั้น แต่ไม่ตรวจสอบต่อเนื่องกระทั่งส่งถึงยังจุดจำหน่าย จะทำให้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ดังนั้นควรต้องตรวจสอบทั้งกระบวนการ และที่สำคัญคือต้องบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวกับสินค้าประมงทุกชนิด