สร้างสมดุลการออมเงิน

สร้างสมดุลการออมเงิน

สร้างสมดุลการออมเงิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 อภินิหารเงินออม AomMoney Guru
สาวหมวยอารมณ์ดี รักงานเขียนและการวางแผนการเงิน มีฝันที่อยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานรักการออม


เรื่องราวที่เราให้ความสำคัญและความสนใจนั้นจะเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น เราลองย้อนเวลากลับไป ในช่วงวัยรุ่น เรื่องส่วนใหญ่ที่เราให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องราวของความรักของพ่อแม่ รักเพื่อน รักแฟน เราก็จะทุ่มเทให้กับเรื่องความรักอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานที่ต้องเผชิญกับโลกแห่งความจริง ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ก็จะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญและทุ่มเทให้กับเรื่องการมองอนาคตเรื่องของชีวิต การงาน การเงิน ความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

ตอนนี้อยากให้เราใช้เวลาอยู่กับตนเองสักพัก นั่งนึกสิ่งที่เราทำผ่านไปในปีที่แล้ว นั่งคิดว่าวันเวลาที่ผ่านไป นั้นเราใช้เวลาไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด เช่น เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องความรัก เรื่องส่วนตัว เป็นต้น เราทุ่มเท ให้กับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไปจนละเลยเรื่องอื่นๆไปหรือไม่ แม้ว่าทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่จะใช้อย่างมีประโยชน์สูงสุดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับชีวิตของแต่ละคน


4 วิธีสร้างสมดุลการออมเงิน

1. แบ่งเวลาให้เรื่องงานกับสุขภาพ

หลายคนใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้านกับคนรักเพราะต้องการหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ทำงานชนิด หามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนต้องนอนป่วยอยู่บ้าน หรือถูกหามส่งโรงพยาบาลกระทันหัน สุดท้ายเราก็นำเงินออมที่หาได้มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตนเอง

เรื่องบางอย่างมากเกินไปก็ไม่ดี เช่น การโหมทำงานหนัก
เรื่องบางอย่างน้อยเกินไปก็ไม่ดี เช่น การออกกำลังกาย
มันน่าจะดีกว่าถ้าแบ่งเวลาให้ทั้งสองเรื่องให้สมดุลกัน

เราอาจจะตั้งเวลาให้ตนเองว่าออกกำลังกายหลังเลิกงานวันละ 1 ชั่วโมง หรือถ้าไม่มีเวลาก็อาจจะใช้เวลา ช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ขี่จักรยานหรือวิ่งออกกำลังกายกับครอบครัวที่สวนสาธารณะแถวบ้าน นอกจาก สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับครอบครัวอีกด้วย

2. แบ่งเงินใช้ในระยะสั้นและระยะยาว

หลายคนเลือกที่จะใช้เงินตอนนี้เพื่อสร้างความสุขอย่างเต็มที่เพราะคิดว่าตนเองยังมีเรี่ยวแรงที่จะหาเงินได้ หากเงินหมดก็หาใหม่ได้ ไม่ต้องเก็บเงินไว้เผื่ออนาคต แต่พอเวลาผ่านไป อายุเริ่มมากขึ้นออกไป ทำงานไม่ไหวหรือเริ่มไม่มีใครจ้างงาน เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ส่วนเงินเก็บสะสมก็ไม่มีเพราะไม่ได้เก็บเงินไว้ เผื่ออนาคตเลย กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

หากต้องการจำลองประสบการณ์ไม่มีเงินใช้ว่ามันลำบากอย่างไรนั้น เราแค่ลอง “ลืมกระเป๋าสตางค์” ไว้ที่บ้าน แล้วออกไปทำงาน วิกฤตอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวขาออกจากบ้านเลยล่ะ แม้จะเป็นการทดลองช่วงสั้นๆ แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตของเรายากลำบากมากๆ จดจำประสบการณ์นี้ไว้จะได้รู้ว่าหากตอนเกษียณแล้ว ไม่มีเงินใช้จะเป็นอย่างไร ดังนั้น แบ่งเงินใช้ระยะสั้นเพื่อความสุขในปัจจุบันแล้วก็ควรแบ่งเงินไว้ เพื่อความสุขในระยะยาวหลังเกษียณด้วย

3. แบ่งผลประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น

บางคนออมเงินเก่งมาก มีเศษเงินมากหรือน้อยก็เก็บเรียบ ในบางครั้งก็ไม่ใช่เงินเลย แต่กลับไปเอาเปรียบ ผู้อื่นหรือนำของส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว เพียงเพื่อจะได้ประหยัดเงินของตนเอง ลักษณะนี้เป็นการ ออมเงินที่ไม่ถูกต้องเพราะทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเกิดความเสียหาย

ในขณะที่บางคนออมเงินแบบบังคับจิตใจและเข้มงวดกับตนเองมากเกินไป ตระหนี่มากจนเกิดความเครียด คิดอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด ลักษณะนี้ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจและทำให้คนรอบข้างไม่ชอบ ก็ได้ ดังนั้น ควรออมเงินแบบสายกลาง มีเงินเท่าไหร่ก็ออมเท่านั้นและไม่เบียดบังผลประโยชน์ของคนอื่น

4. แบ่งช่วงเวลาหาเงินและช่วงเวลาใช้เงิน

หลายคนมีความคิดว่าเมื่อ “หาเงิน” เหนื่อยแล้วก็ต้อง “ใช้เงิน” ให้คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อย เมื่อหาเงินได้ 100% ก็ใช้หมดเลยทั้ง 100% บางครั้งก็ใช้เกินไปบ้างเพราะทำงานมาเหนื่อยมาก หากยังคิดแบบนี้ต่อไป ชีวิตอันตรายมากเลยนะคะ เพราะเราจะต้องเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการเหนื่อยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

หากหาเงินมาได้ 100 แล้วใช้ไป 150 : รับรองว่าอนาคตเกิดภาวะหนี้สิน
หากหาเงินมาได้ 100 แล้วใช้ไป 100 : เสมอตัว ไม่มีเงินเก็บ
หากหาเงินมาได้ 100 แล้วใช้ไป 90 เหลือเงินออม 10 : เริ่มก้าวเข้าสู่ความร่ำรวย
หากหาเงินมาได้ 100 แล้วใช้ไป 90 นำเงินไปลงทุน 10 : ชีวิตมีความมั่งคั่ง


การออมเงินคล้ายๆกับการที่เราตักน้ำใส่ตุ่ม หากตุ่มนั้นมันมีรอยรั่วเล็กใหญ่เต็มไปหมด ใส่ไปเท่าไหร่ ก็ไม่เต็มสักทีเพราะน้ำไหลออกไปหมด นอกจากเหนื่อยแล้วยังเสียเวลาอีกด้วย ถ้าเราใช้เวลาพักแป๊บนึง สำรวจว่ามีรอยรั่วตรงไหนบ้างแล้วหากาวมาอุดให้เรียบร้อย หากเราตักน้ำมาใส่ตุ่มไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าน้ำ ก็จะเต็มตุ่ม การหาเงินและการใช้เงินก็เช่นกัน

“มันไม่สำคัญว่าเราหาเงินมาได้เท่าไหร่
แต่มันสำคัญที่เราสามารถรักษาเงินนั้นได้หรือไม่”

การสร้างสมดุลการออมเงินนั้นเป็นการจัดลำดับความสำคัญของชีวิตว่าหากเราใช้เวลากับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มากเกินไป ก็จะใช้เวลากับอีกเรื่องหนึ่งน้อยลงเช่นกัน ดังนั้น ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสมระหว่างเรื่องานกับ เรื่องสุขภาพ เรื่องการใช้เงินระยะสั้นกับระยะยาว เรื่องผลประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น สุดท้ายก็สร้างสมดุล ระหว่างการหาเงินและการใช้เงิน เพื่อที่เราจะได้มีทั้งคุณภาพชีวิตและสุขภาพทางการเงินที่ดีควบคู่กันนะจ๊ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook