4 กลยุทธ์เริ่มต้นธุรกิจแบบ “ไม่ต้องกู้เงิน”

4 กลยุทธ์เริ่มต้นธุรกิจแบบ “ไม่ต้องกู้เงิน”

4 กลยุทธ์เริ่มต้นธุรกิจแบบ “ไม่ต้องกู้เงิน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่โลกแห่งการค้าการทำธุรกิจมีความเป็นไปได้ในหลายๆ ช่องทาง ตั้งแต่การเปิดร้าน เช่าสถานที่ตามตลาดนัด การฝากขาย หรือแม้กระทั่งการขายสินค้าบนโลกออนไลน์ คนจำนวนไม่น้อยจึงมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ที่จะสามารถผันตัวจากผู้ว่างงานหรือพนักงานบริษัทมาเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ด้วยการลองขายสินค้าหรือทำธุรกิจดูสักครั้ง แต่เมื่อคิดจะเริ่มต้นหลายๆ คนก็เป็นอันต้องเดินมาสะดุดกับความกังวลที่เรียกว่า “การกู้ยืมเงิน”

บางคนอาจมีไอเดียดีๆ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ขาดเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ หรือหากจะพอมีเงินอยู่บ้าง แต่เมื่อได้คำนวณต้นทุนที่ต้องใช้ในแต่ละเดือนจริงๆ แล้วก็เริ่มถอดใจและปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย แต่เชื่อหรือไม่ว่า อันที่จริงเราทุกคนสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องกู้ยืมเงิน แล้วทำยังไงล่ะ…ไปดูเคล็ดลับเหล่านี้กัน

1. แยกเงินเก็บให้ชัดเจน

ถ้าคุณไม่ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปทำธุรกิจ นั่นหมายความว่าคุณต้องใช้เงินที่เก็บสะสมเอาไว้มาใช้ในการลงทุน ดังนั้น ต้องแยกเงินที่จะนำไปลงทุนในธุรกิจเอาไว้อีกบัญชีแต่เนิ่นๆ เลย และใส่เงินเพื่อให้เงินในบัญชีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ที่สำคัญ ต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่ใช้เงินในบัญชีนั้นเพื่อไปช้อปปิ้ง เอาไปใช้เพื่อการท่องเที่ยว หรืออื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตั้งใจจะทำโดยเด็ดขาด ซึ่งเงินในบัญชีนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่คุณมีความสนใจและลงมือที่จะทำธุรกิจอย่างจริงจัง ก็จะได้มีทุนรอนเอาไว้ใช้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ

2. ทำงานอื่นควบคู่กันไปด้วย

จากข้อ 1 เมื่อถึงวันที่คุณพร้อมที่จะทำธุรกิจแล้ว อย่าเพิ่งรีบลาออกจากงานประจำโดยเด็ดขาด เพราะการที่ชีวิตของคุณยังมีเงินเดือนคอยประคับประคองเอาไว้ในขณะที่ทำธุรกิจไปด้วยจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และจำไว้ว่าในช่วงเดือนแรกๆ ของการทำธุรกิจนั้นอาจไปได้ไม่สวยนัก ยอดขายไม่ดีตามเป้าหมายที่วางไว้ กำไรไม่พอจ่ายค่าแรงตัวเอง แถมยังมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกสารพัด ซึ่งเงินเดือนนี้จะสามารถช่วยลดความกดดันให้กับตัวเราเองได้มากทีเดียว

นอกจากนั้น ประโยชน์ของการทำงานควบคู่ไปด้วยอีกประการที่หลายๆ มักจะคนมองข้ามก็คือ เรื่องสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสุขภาพ โบนัส และคอนเน็กชันภายในหน่วยงาน ซึ่งอาจช่วยให้เราหาลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คุณทำอาจไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่มาก อาจมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทช่วยดูแลได้ (เพราะถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ระดับองค์กร เราก็ต้องคอยดูแลลูกน้องแล้วละ) และงานที่ทำควบคู่กันไปก็อาจจะไม่ใช่งานประจำก็ได้ กล่าวคือ อาจเป็นงานเสริม เช่น งานออกแบบกราฟิก งานแปลภาษา งานพิสูจน์อักษร งานรับจ้างเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณเปิดร้านขายของ หรือเปิดร้านออนไลน์ ระหว่างวันหากพอมีเวลาว่างก็ยังสามารถทำงานเสริมเพื่อหารายได้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

3. ใช้กำไรไปลงทุนเรื่องอื่นๆ

เราอาจคิดว่าการพัฒนาธุรกิจต้องใช้เงิน แต่ลองนึกภาพว่าร้านค้าของเราเริ่มไปได้ดี เริ่มมีกำไรในระดับหนึ่ง เราควรเลือกที่จะเก็บเงินไว้เฉยๆ หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินเหล่านั้นงอกเงยออกดอกออกผลให้เรามากยิ่งขึ้นดี แน่นอนว่าควรนำเงินนั้นไปลงทุน หรือเอาเงินส่วนที่กำไรไปหักลบกลบหนี้เก่าเสียก่อน จากนั้นจึงนำเงินในส่วนที่เป็นกำไรไปลงทุนเพิ่ม

โดยอาจจะเป็นการลงทุนในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การทำการตลาด การโฆษณา เทคโนโลยี หรือพนักงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากกว่าการที่จะกอดเงินเอาไว้เฉยๆ และสุดท้ายก็โดนคู่แข่งแซงหน้าไปเพราะเราไม่กล้าลงทุนเพื่อพัฒนาอะไรเลย

4. ดูแลค่าใช้จ่ายทางธุรกิจให้อยู่ในระดับที่ต่ำ 


ข้อดีของการเริ่มต้นธุรกิจจากขั้นเล็กๆ และค่อยๆ เติบโตขึ้นไปทีละนิด จะทำให้เราไม่ต้องไปกู้เงินให้เป็นภาระแต่อย่างใด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ช่วงแรกๆ รายได้ของคุณจะมีไม่มาก ถ้าคุณมีค่าใช้จ่ายที่สูงในหลายๆ ส่วน ไม่รู้จักประหยัดหรืออดออมเงิน ไปซื้อของที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสูงมาใช้ คุณย่อมมีหนี้สินที่ต้องชำระรายเดือนสูง เงินย่อมฝืดและการเติบโตก็มีโอกาสช้าตามไปด้วย

แต่หากคุณค่อยๆ ปล่อยให้ธุรกิจโตไปในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ลงทุนอะไรเกินแรง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีกำไรมากพอ มีรายได้สม่ำเสมอ คุณก็สามารถลงทุนค่าใช้จ่ายมหาศาลได้โดยไม่ทำให้ธุรกิจสะดุดหรือต้องชะลอตัวลง

ทั้งหมดนี้ คือ วิธีการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ต้องไปกู้ยืมใคร ซึ่งแม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่กู้เงิน ไม่มีเงินลงทุนมหาศาล อาจทำให้เรามีขีดจำกัดสำหรับการทำธุรกิจในหลายๆ ด้าน แต่ความเสี่ยงก็น้อย เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาก็ไม่เจ็บตัวหนัก เหตุผลอีกประการก็คือ เป็นการทดสอบว่าเราเหมาะที่จะก้าวเข้าสู่โลกของผู้ประกอบการหรือไม่ ได้ลองสิ่งต่างๆ ด้วยไอเดียของตัวเอง ทดสอบและกำหนดตลาดด้วยตัวเอง และมีความมั่นใจมากขึ้นจากการได้เรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาดด้วยตัวเอง

เรื่อง : เจษฎา ปุรินทวรกุลเรื่อง 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook