ส่งไม้ต่อ! ทายาทแสนล้าน "คิง เพาเวอร์" และ "ช.การช่าง"

ส่งไม้ต่อ! ทายาทแสนล้าน "คิง เพาเวอร์" และ "ช.การช่าง"

ส่งไม้ต่อ! ทายาทแสนล้าน "คิง เพาเวอร์" และ "ช.การช่าง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน คนก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ 2 อาณาจักรธุรกิจใหญ่มูลค่าแสนล้าน ที่ประกาศเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือ "บมจ.ช.การช่าง" หรือ CK และ "บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด" จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ให้ "ทายาท" เจเนอเรชั่น 2 ขึ้นมารับช่วงต่อ เพื่อสร้างการเติบโตและอนาคตใหม่ให้กับธุรกิจ

เดือนกรกฎาคม 2558 บมจ.ช.การช่าง "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่ยังเป็นประธานกรรมการบริหาร แล้วแต่งตั้งให้ลูกสาวคนโต "สุภามาส ตรีวิศวเวทย์" ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่แทน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ "ช.การช่าง" ยักษ์รับเหมาก่อสร้างอันดับ 2 ของประเทศไทย

นอกจาก ดร.สุภามาสที่ต้องมาทำหน้าที่แทน "คุณพ่อ" แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP โดยแต่งตั้ง "ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์" ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แทน ดร.สุภามาส ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีของ ช.การช่าง

"สุภามาส" ถือเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทและประทับตราสำคัญของบริษัท ร่วมกับปลิว ตรีวิศวเวทย์, กำธร ตรีวิศวเวทย์, ณรงค์ แสงสุริยะ และประเสริฐ มริตตนะพร

"สุภามาส" พูดถึงงานที่เข้ามารับไม้ต่อจากพ่อ ว่าแรก ๆ ที่เข้ามาทำงานในกิจการไฟฟ้า ซึ่งตอนนั้นกำลังขยายกิจการไปไฟฟ้าพอดี เธอยอมรับว่ามีแรงกดดันอยู่บ้างเพราะเป็นผู้หญิงและเป็นลูกเจ้าของบริษัท

"บอกตัวเองเสมอว่าจะต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ในเมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาสมาแล้ว ต้องตั้งใจทำ เมื่อตั้งใจทำให้ดีเราก็จะไม่มีแรงกดดัน"

ทุกวันนี้สุภามาสยึดแนวทางการทำงานที่พ่อสอน คือเน้นทีมเวิร์กและเคารพผู้อาวุโส การทำงานกับลูกน้องก็ต้องให้เกียรติ ให้อิสระในการตัดสินใจ แต่อาจแนะแนวทาง ที่สำคัญต้องพูดคุยสื่อสารกันจึงจะทำให้การทำงานกับลูกน้องเป็นไปอย่างราบ รื่น

ขณะเดียวกัน ปลิว กล่าวว่าได้เวลาที่ต้องวางมือในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเห็นว่าคนรุ่นใหม่มาร่วมมือกับคนรุ่นเก่า ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด เป็นการผสมผสานความคิดของคน 2 รุ่นหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับบริษัทในอนาคตเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของ คิง เพาเวอร์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจาก "วิชัย ศรีวัฒนประภา" ไปสู่มือของ "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ในวัยเพียง 30 ปี

"อัยยวัฒน์" กล่าวว่า ในยุคพ่อใช้เวลากว่า 26 ปีสร้างรากฐานธุรกิจจนแข็งแรง พอมาถึงรุ่นลูก จะสานต่อเจตนารมณ์ สำคัญที่สุดคือขยายธุรกิจภายใต้เงื่อนไข กติกา ตามระเบียบกฎหมายการค้าการลงทุนของประเทศและของนานาชาติอย่างซื่อสัตย์ เพราะคิง เพาเวอร์ เป็นธุรกิจคนไทย มีหน้าที่ต้องดูแลภาพลักษณ์ รักษาชื่อเสียงของประเทศไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

"เรื่องแรก สำหรับแผนธุรกิจ คือปรับวัฒนธรรมภายในองค์กร ก้าวสู่เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและการตลาด เป็นการนำอีคอมเมิร์ซเข้ามาบริหารจัดการแบบครบวงจร ใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร สั่งงาน และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าแบรนด์ไทยและดิวตี้ฟรี ผ่านระบบดิจิทัล ทั้งขายออนไลน์ทาง www.kingpower.com. จับมือกับ www.tmall.com ซึ่งเป็นช็อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของจีน จะสามารถเพิ่มยอดขายหมุนเวียนสินค้าแบรนด์ไทยและอินเตอร์ควบคู่กันไป เติบโตเฉลี่ยได้ปีละ 8-10%"

ปัจจุบันการขายสินค้าผ่านหน้าร้าน "ดิวตี้ฟรี" ในสนามบิน 4 แห่งคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ และเชียงใหม่ รวมถึงดิวตี้ฟรีในเมือง (Down Town) 3 แห่ง ได้แก่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางน้ำ, ศรีวารี และภูเก็ต เพิ่งเปิดเป็นทางการเมื่อต้นเดือนภุมภาพันธ์ 2559 ยอดรายได้ขยายตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มหลักคือ จีน ซึ่งเมื่อปี 2558 ช็อปปิ้งในดิวตี้ฟรี 4 ล้านคน ซื้อสินค้าเฉลี่ยคนละประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป

ในภาพรวมแล้วธุรกิจในกลุ่มคิง เพาเวอร์ มีทั้งร้านค้าดิวตี้ฟรี สินค้าเฮาส์แบรนด์ ผลิตภัณฑ์อาหารไทยทั้งสำเร็จรูปและแปรรูป ร้านอาหารรามายณะ ทำยอดขายได้รวมประมาณ 68,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% สำหรับปี 2559 ตั้งเป้ามากกว่า 85,000 ล้านบาท เพราะมีดิวตี้ฟรีในเมืองที่ภูเก็ตเข้ามาด้วย รวมทั้งเตรียมขยายร้านอาหารรามายณะในบริเวณคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ศรีวารี อีก 3 อาคาร รองรับให้ได้ถึง 20,000 คน

"สำหรับปี 2559 มีโครงการจะลงทุนดิวตี้ฟรีของคนไทยไปต่างประเทศ โดยเป้าหมายแห่งแรกในญี่ปุ่น ซึ่งเดือนมีนาคม 2559 ทางกลุ่มดิวตี้ฟรี คันไซ นัดคุยกันในรายละเอียดเรื่องการทำดิวตี้ฟรีในเมือง เพราะเขาชื่นชอบแนวทางพัฒนาธุรกิจของคิง เพาเวอร์ ส่วนเงินลงทุนขึ้นอยู่กับราคาเช่าพื้นที่ในญี่ปุ่น เบื้องต้นขนาด 2,000 ตารางเมตร ใช้เงินขั้นต่ำมากกว่า 4,000 ล้านบาท จากนั้นจะไปเมียนมา และอีกหลายประเทศที่มีความเหมาะสม"

"อัยยวัฒน์" บอกว่า ทุกช่องทางขยายการลงทุนดิวตี้ฟรีของคิง เพาเวอร์ จะนำสินค้าแบรนด์ไทยตามไปด้วยทุกแห่ง เพราะจับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ คัดแบรนด์สินค้าโอท็อปที่ได้มาตรฐานส่งออกกว่า 100 ชนิด มาวางขายในดิวตี้ฟรีซึ่งมีกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เติบโตดีมาก ปี 2558 ขายได้กว่า 15,000 ล้านบาท คิดเป็น 18-20% ของยอดขายรวม สำหรับปี 2559 มองว่าสินค้าแบรนด์ไทยจะยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะตลาดจีนชอบซื้อขนมไทย ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปบรรจุถุงโดยเฉพาะ "ทองม้วน" บรรจุกล่องจากนครปฐม มียอดขายแต่ละเดือนกว่า 22 ล้านบาท

"ธุรกิจ ดิวตี้ฟรีของคิง เพาเวอร์ ในนามของคนไทย ขณะนี้ได้รับการจัดอันดับทำยอดขายติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในอนาคตจะนำดิวตี้ฟรีของไทยก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลกให้สำเร็จ เช่นเดียวกับการพัฒนากีฬาฟุตบอลของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ก็จะต้องไปยืนติดอันดับท็อปไฟฟ์ด้วยเช่นกัน"

"หลักการสำคัญที่สุดใน สนามแข่งขันทางธุรกิจและกีฬา สิ่งที่คุณพ่อสั่งสอนผมและทีมงานระดับบริหาร รวมถึงทุกคนในครอบครัว คือการจะไปลงทุนธุรกิจในประเทศไหน ๆ ต้องศึกษาระเบียบ กติกา เงื่อนไขการลงทุน กฎหมาย แล้วให้เคารพสิทธิของคู่แข่งคนอื่น ๆ ด้วย เพราะหัวใจทำการค้า ต้องยึดคุณธรรม สร้างสินค้าที่มีคุณภาพ รักษาชื่อเสียงแบรนด์คนไทย พัฒนามาตรฐานบริการ คุณภาพคน และทำด้วยความรักในธุรกิจนั้น ๆ"

เป็นสัญญาสุภาพบุรุษในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ของคิง เพาเวอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook