ธุรกิจเฮ เตรียมรื้อ กม.ล้มละลายทั้งฉบับ บริษัทใหญ่หมุนไม่ทัน-ยื่นฟื้นฟูได้ไม่ต้องหนี้ท่วม

ธุรกิจเฮ เตรียมรื้อ กม.ล้มละลายทั้งฉบับ บริษัทใหญ่หมุนไม่ทัน-ยื่นฟื้นฟูได้ไม่ต้องหนี้ท่วม

ธุรกิจเฮ เตรียมรื้อ กม.ล้มละลายทั้งฉบับ บริษัทใหญ่หมุนไม่ทัน-ยื่นฟื้นฟูได้ไม่ต้องหนี้ท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาคธุรกิจเตรียมเฮ ! กรมบังคับคดีตั้งทำงานเตรียมชำแหละ พ.ร.บ.ล้มละลายทั้งฉบับ รวมถึงส่วนฟื้นฟูกิจการ เล็งเสนอเปิดช่องให้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการโดยไม่ต้องรอ "ให้หนี้สินล้นพ้นตัว" เพียงแต่ "ไม่สามารถชำระหนี้ได้" เพราะขาดสภาพคล่องชั่วครั้งชั่วคราว คาดรู้ผลศึกษากลางเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเปิดประชาพิจารณ์ต่อไป

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกรมบังคับคดีได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อให้ศึกษากำหนดประเด็นสำคัญที่ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งฉบับ ใน 2 ส่วน คือ ส่วนล้มละลาย และส่วนฟื้นฟูกิจการทั่วไป เพื่อให้สอดรับกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลาย ๆ ข้อ ให้มีความทันสมัย เป็นมาตรฐานสากล เพื่ออำนวยความยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีกรอบระยะเวลาให้เสนอประเด็นเบื้องต้นภายในไตรมาสแรกของปี 2559 หรือภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีการเปิดทำประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจได้มาแสดงความคิดเห็นต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญประการหนึ่งที่ได้เสนอหลักคิดใหม่ฝากให้คณะทำงานไปพิจารณา โดยเฉพาะในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทขนาดใหญ่ ในปัจจุบันตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/3 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจะขอฟื้นฟูกิจการไว้ว่า ลูกหนี้ต้องมี "หนี้สินล้นพ้นตัว" และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น มีข้อเสนอให้ไปพิจารณาว่า หากจะเปลี่ยนใช้หลักเกณฑ์สากลที่เรียกว่า ลูกหนี้มีสถานะ "ไม่สามารถชำระหนี้ได้" สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ โดยไม่ต้องรอให้ลูกหนี้มีสถานะมี "หนี้สินล้นพ้นตัว" ได้หรือไม่

"ได้ฝากการบ้านให้คณะทำงานไปศึกษาดูในส่วนการฟื้นฟูของบริษัทขนาดใหญ่ โดยอิงจากหลักการแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ. ...การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่กำหนดว่า เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถชำระหนี้ 3 ล้านบาทขึ้นไปได้ แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถมายื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ และทำแผนโดยไม่ต้องมีผู้ทำแผนเพื่อลดค่าใช้จ่าย และจำนวนหนี้ไม่มากไม่ต้องซ้ำซ้อน เพียงแต่ลูกหนี้ตกลงกับเจ้าหนี้ให้ได้

ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่คิดว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ธุรกิจยังเดินได้อยู่ เข้ามาขอฟื้นฟูกิจการได้เลย และได้รับการพักชำระหนี้ คือ ไม่ต้องให้ลูกหนี้มีสถานะหนี้สินล้นพ้นตัว เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ปัจจุบันกฎหมายกำหนดมีหนี้สินล้นพ้นตัว 10 ล้านบาทขึ้นไป หากเปลี่ยนมาเพียงแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ เรื่องการชำระหนี้ น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกว่า ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้

ถือเป็นแนวคิดของกฎหมายใหม่ เพราะบางทีธุรกิจเอสเอ็มอีมีศักยภาพ แต่บางทีติดปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วครั้งชั่วคราว กฎหมายใหม่จะเป็นการให้โอกาส ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีเองต้องการให้ส่วนราชการลองเข้ามาดูการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ และพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องการให้ตอบโจทย์ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมว่าจะได้อย่างไร วันนี้กรมบังคับคดีดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เป็นการทำครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ SMEs โดยได้ผลักดันกฎหมายฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2"

นอกจากนี้ ทางกรมบังคับคดีอยู่ระหว่างดำเนินการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๔ ลักษณะ ๒ อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติการบังคับคดี อยู่ระหว่างคณะทำงานพิจารณา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 17 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว รวม 5 ฉบับ ได้แก่

1.พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558

2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558

3.กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

4.ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ พ.ศ. 2558

5.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2559

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook