แฟรนไชส์ซ่อม "แบรนด์เนม-สปากระเป๋า" โตสวนเศรษฐกิจ

แฟรนไชส์ซ่อม "แบรนด์เนม-สปากระเป๋า" โตสวนเศรษฐกิจ

แฟรนไชส์ซ่อม "แบรนด์เนม-สปากระเป๋า" โตสวนเศรษฐกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เศรษฐกิจไม่ดี ไม่เคยมีผลให้คนหิ้วกระเป๋าแบรนด์เนมลดน้อยลง ธุรกิจที่มารองรับคนรักกระเป๋า และลงทุนในกระเป๋าจึงเกิด อย่างธุรกิจสปากระเป๋าที่เตรียมขยายสู่แฟรนไชส์ในปีนี้ รองรับการเติบโตของธุรกิจซ่อม-ทำสี-ทำสปากระเป๋าที่เพิ่มขึ้นสูงมาก

ประสบการณ์เกิดไอเดียเกิด

นางสาวนพชลัยย์ วงศ์วัฒนาการ หัวหน้าทีมสอนการตลาด สถาบันสอนสปากระเป๋าแบรนด์เนม Bag & Spa Cleaning Club กล่าวว่า เริ่มจากเป็นผู้นำเข้ากระเป๋าแบรนด์เนมมือสองจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า สินค้าบางชิ้นชำรุดมากจนไม่คุ้มกับการส่งซ่อมยังร้านแบรนด์ แต่จะส่งร้านที่สามารถซ่อมแบรนด์เนมได้เหมือนออริจินอลก็หายาก จนจุดประกายไปเรียนเพื่อซ่อมเองจะช่วยลดต้นทุนและเป็นทางเลือกแก่ผู้ที่ใช้แบรนด์เนมรายย่อยอื่นทั่วไปได้ใช้บริการอีก จึงเริ่มเซตทีมจนมีผู้เชี่ยวชาญรวม 6 ท่าน และเปิดอบรมแก่ผู้สนใจ

โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งการดูสินค้าของแท้ มีฝีมือด้านการทำสี การซ่อม และการทำสปา ทำความสะอาดสินค้า ซึ่งคนที่จะมาเป็นช่างนอกจากต้องมีความชำนาญด้านงานฝีมือยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าแต่ละแบรนด์ด้วย เพราะแต่ละแบรนด์มีความเฉพาะตัว เช่น Chanel แต่ละรุ่นจะใช้ผ้าซับในสีต่างกัน เป็นต้น ซึ่งการซ่อมต้องซ่อมให้เหมือนของเดิมมากที่สุดนั่นเอง

จากประสบการณ์การทำธุรกิจสปากระเป๋ามากว่า 2 ปีพบว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร กระแสนิยมการใช้กระเป๋าแบรนด์เนมไม่เคยซบเลย ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดีผู้มาใช้บริการโดยเฉพาะงานซ่อม ทำสี ยิ่งพุ่ง เพราะเมื่อหันมาใช้ของมือสอง ซึ่งอาจมีตำหนิบ้าง แต่ราคาถูกกว่าเป็นเท่าตัว ก็ต้องส่งมาอัพหน้าตาให้เหมือนใหม่ ทำให้ปี 2558 ทางสถาบันมีการเติบโตถึง 40% มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 8 หลักในปีที่ผ่านมา

นาทีนี้ต้องมีแฟรนไชส์

เพราะความต้องการของตลาดสำหรับธุรกิจนี้นั้นแรงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนของผู้ใช้แบรนด์เนมที่มีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน วัยรุ่นและคนทั่วไปสามารถหารายได้ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าแบรนด์เนมขยายตัวตามไปด้วย ปัจจัยเสริมอีกประการคือ ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนก็หันมาใช้กระเป๋าแบรนด์เนมที่เป็นสินค้ามือสอง ที่มีราคาถูกกว่า แต่มีตำหนิ ซึ่งในส่วนของการมีตำหนิที่สินค้า และปริมาณผู้ใช้ที่มากก็นับเป็นโอกาสในการเข้ามาใช้บริการสปา และยิ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับการทำสปา ซ่อม ซัก มีน้อย ความต้องการก็จะล้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จึงมีแนวคิดขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ไซซ์ S และไซซ์ M โดยไซซ์ S จะเป็นคีออสก์ พื้นที่ประมาณ 10 ตร.ม. เน้นบริการสปากระเป๋าอย่างเดียว มีค่าแฟรนไชส์ 3.5 แสนบาท มีค่ารอยัลตี้ฟี 5% ต่อปี

ส่วนไซซ์ M จะเป็นช็อป พื้นที่ประมาณ 20-30 ตร.ม. สามารถให้บริการสปา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลกระเป๋า และซื้อ-ขายกระเป๋าแบรนด์ได้อีกด้วย มีค่าแฟรนไชส์ 5 แสนบาท มีค่ารอยัลตี้ฟี 3% ต่อปี โดยทั้ง 2 รูปแบบจะสามารถคืนทุนได้ใน 6-10 เดือน ตั้งเป้า 30 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ โดยมีลูกค้าที่จองไว้แล้ว คือ ที่หาดใหญ่ ระยอง ภูเก็ต พิษณุโลก ในกรุงเทพฯคือ เมกาบางนา และที่ราชพฤกษ์ โดยจะมีศูนย์ที่งามวงศ์วานในการรับงานซ่อม และงานที่แฟรนไชส์ไม่สามารถซ่อมเองได้

นอกจากนี้ ความรู้จากการฝึกอบรมกับสถาบัน ยังสามารถนำไปขยายไลน์ไปสู่การทำสปาเครื่องหนังอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า เบาะ ผ้าม่าน รองเท้า เป็นต้น เป็นรายได้เสริมของผู้ซื้อแฟรนไชส์ต่อไป ซึ่งในอนาคตทาง Bag & Spa Cleaning Club มีแผนขยายองค์ความรู้เหล่านี้เพื่อเป็นการสร้างอาชีพแก่แม่บ้านที่ต้องการงาน ผู้พิการเพื่อเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย

ขายต่างประเทศ

จากประสบการณ์การสอน นอกจากกลุ่มผู้ที่มาเรียนจะเป็นคนที่นิยมในสินค้าแบรนด์และเครื่องหนังพบว่า มีนักเรียนบางกลุ่มที่มาอบรมเพื่อที่จะนำไปเปิดร้านในต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศก็ยังขาดบริการด้านการทำสปา ซ่อม และดูแลกระเป๋าด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีนักเรียนที่อบรมกับทางสถาบันแล้วไปเปิดธุรกิจเป็นร้านของตนเอง ทั้งในประเทศแถบยุโรป อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ส่วนกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มาสมัครเรียนเพราะต้องการนำไปดูแลกระเป๋าของตนเอง ทำให้ทาง Bag & Spa Cleaning Club เล็งเห็นว่า เพื่อนบ้านมีรสนิยมในกระเป๋าแบรนด์เนมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีแผนที่จะขยายแฟรนไชส์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่อไป แต่อาจจะต้องรอแฟรนไชส์ในประเทศก่อนว่าดำเนินการไปได้ดี ซึ่งช่วงนี้อาจจะสร้างความรับรู้ให้ลูกค้าข้ามฝั่งมาใช้บริการที่ฝั่งไทยในจังหวัดใกล้เคียงก่อน

สินค้าแบรนด์เนมยังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งตามกระแสคนดังและพฤติกรรมผู้บริโภค ธุรกิจดูแลสินค้าราคาแพงหูฉี่เหล่านี้ก็ยังสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องง้อเศรษฐกิจว่าดีหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook