สะดุดกระแส "กูลิโกะ" เจ้าตลาด "สกัด" ทุกช่องทาง

สะดุดกระแส "กูลิโกะ" เจ้าตลาด "สกัด" ทุกช่องทาง

สะดุดกระแส "กูลิโกะ" เจ้าตลาด "สกัด" ทุกช่องทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านมาเกือบ 1 เดือนหลังวางขายอย่างเป็นทางการ แต่กระแสความแรงของ "ไอศกรีมกูลิโกะ" จาก กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) ยังคงติดอันดับแรร์ไอเท็ม (rare item) สินค้าหายากและสร้างปรากฏการณ์ตามล่าตู้แช่อย่างต่อเนื่อง ทั้งใกล้และไกลบ้านตามพิกัดร้านค้าที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ตลอดจนโพสต์ภาพประกาศในเฟซบุ๊ก เปิดรับพรีออร์เดอร์ในหมู่เพื่อนฝูงทันทีที่เจอสินค้า

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจตามร้านสะดวกซื้อและจากการสอบถามพนักงานขาย พบว่าแม้ไอศกรีมกูลิโกะวางจำหน่ายผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทันทีที่ของลงร้าน ก็เกิดการกว้านซื้อเป็นสิบแท่งต่อคน ทำให้สินค้าหมดอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง จนต้องติดป้ายประกาศขออภัยลูกค้า พร้อมระบุวันที่สินค้ามาส่ง

แหล่งข่าวจาก "กูลิโกะ โฟรเซ่น" (ประเทศไทย) ยอมรับว่า ด้วยเรื่องกำลังการผลิต ระบบการขนส่ง ตลอดจนพื้นที่ขายในร้านสะดวกซื้อที่ถูกผูกขาดในลักษณะการเอ็กซ์คลูซีฟโดยเจ้าใหญ่ของตลาด ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคสำหรับการส่งสินค้าและขยายจุดจำหน่าย

"ในส่วนของการผลิต เรากำลังพยายามบริหารจัดการ ส่วนเรื่องจุดจำหน่ายก็กำลังสู้เรื่องตู้แช่อยู่ เพราะทุกเจ้าก็พยายามปกป้องพื้นที่ขายของตัวเอง การที่เราสามารถเข้าไปจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นหรือแฟมิลี่มาร์ทบางสาขาได้ถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์มากเหมือนกัน"

นอกจากช่องทางจำหน่ายซึ่ง"กูลิโกะ"ต้องการเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างโมเดิร์นเทรดกับเทรดิชันนอลเทรดให้เท่ากันยังขยายช่องทางอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยรถวากอน 1 คัน ตระเวนตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการขายผ่านรถเข็นในอนาคต

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อจำกัดเรื่องจำนวนสินค้าและจุดจำหน่าย ทำให้สินค้ามีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ถือเป็นอีกปัจจัยหนุนให้กระแสไอศกรีมสัญชาติญี่ปุ่นแบรนด์นี้แรงแบบฉุดไม่อยู่

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเสียโอกาสจากกลุ่มลูกค้าที่พลาดหวังและอาจจะถอดใจหันไปอุดหนุนแบรนด์คู่แข่งซึ่งแต่ละค่ายต่างเปิดตัวทั้งสินค้าใหม่และโปรโมชั่น

ออกมาสกัดน้องใหม่เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่นอาทิวอลล์จัดแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ซื้อชิ้นที่ 2 ลด 50% และออกฟรุตทาเร่ สมูทตี้ รสมะม่วง ราคา 15 บาท ขายเฉพาะช่วงหน้าร้อนนี้เท่านั้น ด้านเนสท์เล่ชูกลยุทธ์ซีซันนอลมาร์เก็ตติ้ง อาทิ โปรโมชั่นวาเลนไทน์ ซื้อไอศกรีมคิทแคทชิ้นที่สองในราคา 14 บาท จากปกติ 30 บาท และโปรโมตไอศกรีมแท่งรสช็อกโกแลตและวานิลลารูปหมีแพนด้า ภายใต้ซับแบรนด์ "เอสกิโม" ซึ่งเพิ่งลอนช์ไปปีก่อน ถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

สอดคล้องกับแหล่งข่าวค้าปลีกมองว่า ไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีโอกาสในตลาดเมืองไทย เพราะสภาพอากาศที่ร้อนและแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่แข่งขันกันมีไม่กี่ราย ทำให้การเข้ามาของกูลิโกะเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภคและกระตุ้นตลาดให้ตื่นตัวยิ่งขึ้น เพราะแบรนด์อื่น ๆ ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ จากปกติที่มีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาตลอดอยู่แล้ว

"การบริโภคส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไปตามกระแส ทำให้สินค้ากลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ถ้าไปที่ร้านและไม่มีสินค้าก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะเกิดการสวิตช์แบรนด์หรือเลือกซื้อยี่ห้ออื่นทดแทนในตลาดก็เริ่มเห็นสีสันของสินค้าใหม่ๆและยังมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น อย่างการิการิคุงจากญี่ปุ่น"

สำหรับความเคลื่อนไหวของรายใหญ่ ๆ ต่างก็เดินหน้าเติมเต็มช่องทางขาย ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของ "กูลิโกะ"

ผู้นำตลาด "วอลล์" จากยูนิลีเวอร์ที่ปลุกตลาดตั้งแต่ต้นปี ผ่านแคมเปญ "Wall"s man only มากกว่าส่งไอติมคือส่งความสุข" ชวนคนไทยสมัครเป็นพนักงานขายไอศกรีมวอลล์ ตั้งเป้า 5,000 คันในปี 2560 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางจำหน่าย หลังจากไม่ได้สิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟตู้แช่ในเซเว่นฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

"สุทิพา ปัญญามหาทรัพย์" รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนและไอศกรีม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด ระบุว่า การเติบโตของตลาดไอศกรีมในปีที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศเมืองไทยที่ร้อนทั้งปี จึงเป็นโอกาสให้ทำกิจกรรมการตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องยึดติดเฉพาะช่วงหน้าร้อน ทั้งนี้ วอลล์มีเป้าหมายปูพรมตลาดไอศกรีมรถสามล้อ เจาะชุมชนมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีรถจำหน่ายไอศกรีมวอลล์ทั้งแบบรถเข็น รถสามล้อ และเรือ

ด้าน "เนสท์เล่" ได้ขยายช่องทางเข้าไปในเซเว่นฯที่มีจำนวนมากกว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เนสท์เล่มีช่องทางขายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าตลาด

ข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสถาบันอาหาร ระบุว่า ตลาดไอศกรีมปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 16,500 ล้านบาทโดยในเซ็กเมนต์ไอศกรีมทั่วไป (Low to Medium/Standard) มีมูลค่าประมาณ 57% ของตลาดรวม หรือ 9,500 ล้านบาท โดย "วอลล์" จากยูนิลีเวอร์มีส่วนแบ่งตลาด60% "เนสท์เล่" จากเนสท์เล่ 15% ขณะที่ "แมกโนเลีย" จากเอฟ แอนด์ เอ็น ยูไนเต็ด มีส่วนแบ่ง 9%

จึงต้องติดตามว่า ความแรงของน้องใหม่ "กูลิโกะ" จะสร้างแรงสั่นสะเทือนเค้กก้อนนี้จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

แต่แน่นอนว่า สมรภูมิหน้าร้อนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจจะร้อนฉ่ากว่าทุก ๆ ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook