“แอร์ไลน์ไทย” ส่งสัญญาณอ่วมระนาว ขาดสภาพคล่อง-ติดหนี้ค่าสนามบินทั้งใน-ตปท.
เปิดตัวเลขรายได้ “แอร์ไลน์ไทย” จ่อเจ๊งระนาว วงในเผย กพท.ร่อนหนังสือแจ้งผู้ประกอบการ 50 บริษัทจัดส่งงบการเงินปี”58 ล่าสุดพบแล้ว 4 ราย “ซิตี้แอร์เวย์-กานต์นิธิฯ-เอเชียนแอร์-เจ็ทเอเชียฯ” ทั้งขาดสภาพคล่อง-มีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมสนามบินทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ขณะที่รายใหญ่อย่าง “นกแอร์-นกสกู๊ต” ยังอ่วม
แม้ว่าปีนี้ภาพรวมของธุรกิจสายการบินของไทยจะก้าวผ่านช่วงช็อกที่กรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO เข้ามาตรวจสอบและห้ามสายการบินของไทยเพิ่มเที่ยวบิน และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ในบางประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปแล้ว แต่ยังดูเหมือนว่าถึงขณะนี้หลายสายการบินก็ยังคงปรับตัวตั้งรับไม่ไหว และได้รับผลกระทบที่สะท้อนออกมาทางรายงานผลประกอบการอย่างหนัก
รายงานจากสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงผู้ประกอบการสายการบินของไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการเดินอากาศ ทั้งหมดจำนวน 50 บริษัท ดำเนินการจัดส่งงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ให้ กพท.ตรวจสอบภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ และจากการตรวจสอบในขณะนี้ พบว่า มีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างชัดเจนจำนวน 4 ราย
ประกอบด้วย 1.บริษัท ซิตี้แอร์เวย์ จำกัด เนื่องจากซิตี้แอร์เวย์ได้มีการยื่นขอสิทธิใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ซึ่งได้แนบงบการเงิน ปี 2558 มาพร้อมด้วย ทาง กพท.ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2556-2558 พบว่า ซิตี้แอร์เวย์มีโครงสร้างเงินทุนมาจากการกู้ยืมเงิน ทำให้มีภาระผูกพันที่ต้องชำระดอกเบี้ยระยะสั้น
ดังนั้น ซิตี้แอร์เวย์จึงมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินงาน มีภาระหนี้สูง การบริหารก็มีความเสี่ยงสูง เพราะหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น ทั้งยังมีเงินสดหมุนเวียนจากการดำเนินงานไม่มาก
นอกจากนี้ ซิตี้แอร์เวย์ยังมีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จำนวนเงิน 25.09 ล้านบาท (ณ 5 กุมภาพันธ์ 2559) และค้างชำระค่าธรรมเนียมกรมการบินพลเรือนฮ่องกง (ณ พฤศจิกายน 2558) จำนวนเงินประมาณ 6.73 ล้านบาท
ขณะที่ปัญหาค้างชำระค่าเช่าอากาศยาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องจากเจ้าของอากาศยาน โดย กพท.อนุญาตให้ซิตี้แอร์เวย์ทำการบินได้ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสถานะการเงินได้ในระยะใกล้นี้
2.บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด จากการตรวจสอบงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2558 พบว่า กานต์นิธิฯได้กู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 27 ล้านบาท เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กานต์นิธิฯยังไม่มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ (อากาศยาน) ที่ทำให้เกิดรายได้มากนัก มีอัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม 0.98 เท่า และมีภาระหนี้ค่อนข้างมาก อัตราส่วนแห่งหนี้เท่ากับ 18.30%
ทั้งนี้ กานต์นิธิฯมีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมแก่ บวท. (ณ 5 กุมภาพันธ์ 2559) จำนวนเงิน 10.21 ล้านบาท และค้างชำระบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) (ณ 5 กุมภาพันธ์ 2559) จำนวนเงิน 1.11 ล้านบาท
3.บริษัท สายการบินเอเชียน จำกัด ยังไม่ได้จัดส่งงบการเงินมาให้ กพท. พร้อมค้างค่าธรรมเนียมกับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ประมาณ 69.68 ล้านเยน โดยปัจจุบันศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยเด็ดขาดเมื่อ 26 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว มีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของสายการบินเอเชียนแต่เพียงผู้เดียว
ขณะนี้สายการบินเอเชียนได้หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน
และ 4.บริษัท เจ็ทเอเชีย แอร์เวย์ จำกัด จากงบการเงิน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้เจ็ทเอเชียฯขาดทุนจนเกินทุนจดทะเบียน โดยทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 250 ล้านบาท ปัจจุบันขาดทุนสะสม 525.18 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียมกับท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ 156.21 ล้านเยน และค้างชำระ บวท. (ณ 5 กุมภาพันธ์ 2559) จำนวน 16.23 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการสายการบินขนาดเล็กเท่านั้นที่ประสบปัญหาด้านผลประกอบการอย่างหนัก สายการบินขนาดใหญ่บางแห่งก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นกัน อาทิ สายการบินนกแอร์ ที่พบว่าประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก หลังจากที่ได้ลงทุนเปิดสายการบินนกสกู๊ต ร่วมกับกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ส
โดยพบว่าตัวเลขผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 1,275.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผลขาดทุนส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 571.85 ล้านบาท และส่วนที่เป็นของส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 703.39 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานขาดทุนของบริษัท ในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว และการรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด
ขณะที่ในส่วนของนกสกู๊ตเอง 9 เดือนปี 2558 ขาดทุนอยู่ที่ 916.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยของประเทศไทยจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) เมื่อมิถุนายน 2558
เช่นเดียวกับสายการบินไทยสมายล์ ที่ก่อนหน้านี้นายวรเนติ หล้าพระบาง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด กล่าวยอมรับว่าเดิมทีเดียวคาดว่าในปี 2558 ที่ผ่านมาจะเป็นปีที่ไทยสมายล์มีศักยภาพในการทำกำไรได้ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยเผชิญกับหลายปัจจัย ทำให้ยังไม่สามารถทำกำไรได้ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยสมายล์จะกลับมามีกำไรได้ในปี 2559 นี้
สำหรับสายการบินไทยนั้น จากรายงานล่าสุดของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทน่าจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องเป็นมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่เชื่อมั่นว่าปีนี้จะพลิกกลับมาสร้างกำไรได้แน่นอน