แล้งทำพิษ! ฉุดศก.วูบ เงินหายจากระบบนับแสนล้าน!

แล้งทำพิษ! ฉุดศก.วูบ เงินหายจากระบบนับแสนล้าน!

แล้งทำพิษ! ฉุดศก.วูบ เงินหายจากระบบนับแสนล้าน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 74.7 ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.7 โดยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน

“แม้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 2 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่าความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงเป็นสัญญาณชั่วคราว แต่สิ่งที่กังวลมากขึ้นคือ ปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณคลี่คลาย” นายธนวรรธน์กล่าวและว่า

นอกจากนี้พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลการเกษตร การเพาะปลูก การดำเนินชีวิตในเชิงเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทั่วไป จึงเป็นสถานการณ์ที่ดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลง เห็นได้จากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางจะมีมุมมองเชิงลบสูงกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากผูกพันกับข้าวและยางพารา

สถานการณ์ภัยแล้งจึงเป็นความเสี่ยงและอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนเมษายน พฤษภาคม ในเบื้องต้นศูนย์พยากรณ์ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งอาจจะทำให้เงินระบบหายไปประมาณ 7 หมื่นล้าน -1 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนี้จะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/58 โดยคาดว่าจะยังอยู่ใกล้เคียง 2.8% หรือต่ำกว่าเล็กน้อย ดังนั้นถ้ามีเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบได้ทันในช่วงไตรมาส 2 ทั้งการลงทุนภาครัฐ มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่างๆ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ประมาณ 3%

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่าง 2,255 คน ทั่วประเทศ เห็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยบวกคือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% การขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 4/2558 เติบโตที่ 2.8% และทั้งปี 2558 ขยายตัว 2.8%

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตรให้กลุ่มเอสเอ็มอีภาคเกษตร วงเงินรวม 8.7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบคือ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2559 จาก 3-4% เป็น 2.8-3.8% และการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2559 ลดลง 8.91% ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทแข็งค่าขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook