ทิศทางตลาดแรงงานปี′59 "บัญชี-ไอที-วิศวะ-งานขาย" อาชีพดาวรุ่ง

ทิศทางตลาดแรงงานปี′59 "บัญชี-ไอที-วิศวะ-งานขาย" อาชีพดาวรุ่ง

ทิศทางตลาดแรงงานปี′59 "บัญชี-ไอที-วิศวะ-งานขาย" อาชีพดาวรุ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในรอบปีผ่านมา ส่งผลต่อทิศทาง และการขับเคลื่อนของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้แรงงานเข้มข้น

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จึงจัดทำผลสำรวจล่าสุด "ทิศทางตลาดแรงงาน" พร้อมเปิดแผนงานทิศทางการรุกตลาดในฐานะบริษัทจัดหางาน และที่ปรึกษาด้านแรงงาน ประจำปี 2559 เพื่อเป็นแนวทางช่วยลดช่องว่างทั้งอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาดแรงงานในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจในประเทศไปพร้อม ๆ กัน

"ไซมอน แมททิวส์" ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่าปีที่ผ่านมาแมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แม้ต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลประกอบการของปี"58 รายได้จึงอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 10%

"โดยปีผ่านมา บริษัทตั้งเป้าเติบโต 15% จึงถือว่าต่ำจากเป้าที่ตั้งไว้ 5% แต่เนื่องจากบริษัทมีการบริหารการจัดการกำไรที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ ซึ่งในปี"59 บริษัทตั้งเป้าเติบโตที่ 10% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากภาคอุตสาหกรรม 40%, กลุ่มปฏิบัติงานประจำสำนักงาน 50% และกลุ่มเทคโนโลยี หรือไอที 10%"

"สำหรับทิศทางตลาดแรงงานในปีนี้ ไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก สืบเนื่องจากความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณ และคุณภาพ รวมถึงการผลิตคนไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด การเลือกงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของงาน ส่งผลให้ไม่สอดรับกับความต้องการของตลาดเท่าที่ควร"


จากการสำรวจกว่า 450 บริษัท พบว่า 10 อันดับแรกของสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ 1.งานธุรการ 25.53% 2.งานบัญชี การเงิน และการธนาคาร 17.65% 3.งานไอที และโทรคมนาคม 16.74% 4.งานการตลาด และประชาสัมพันธ์ 14.13% 5.งานวิศวกร 12.45% 6.งานการผลิต 10.00% 7.งานท่องเที่ยว และงานโรงแรม 8.29% 8.งานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจ 6.53% 9.งานระดับผู้บริหาร 4.15% 10.งานราชการ 4.10%

ในขณะที่ 10 อันดับแรกของสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1.งานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจ 26.74% 2.งานไอที และโทรคมนาคม 18.25% 3.งานวิศวกร 15.76% 4.งานบัญชี การเงิน และการธนาคาร 14.49% 5.งานขนส่งและโลจิสติกส์ 12.53% 6.งานสัญญาจ้าง พนักงานรายวัน และพนักงาน Part-time 11.16% 7.งานด้านการแพทย์ และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ 9.01% 8.งานระดับผู้บริหาร 8.63% 9.งานการตลาด และประชาสัมพันธ์ 4.41% 10.งานการผลิต 3.84%

ผลสำรวจข้างต้น "ไซมอน แมททิวส์" วิเคราะห์ให้ฟังว่ามีตำแหน่งงานถึง 7 สายงานที่สอดรับกันอยู่ทั้งในแง่อุปสงค์ และอุปทานของตลาด คือ งานบัญชี, ไอที, การตลาดและประชาสัมพันธ์, วิศวกร, การผลิต, งานขาย และงานระดับผู้บริหาร

"ส่วนในแง่การปรับตัวต่อสภาพเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3"

จึงส่งผลต่อทิศทางตลาดแรงงานในปีนี้อย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง "สุทธิดา กาญจนกันติกุล" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ระบุว่า เมื่อตลาดแรงงานในประเทศไทยเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดย่อมเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

"อย่างตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมากและเป็นที่นิยมในปัจจุบันคืองานสัญญาจ้าง พนักงานรายวัน และพนักงาน Part-time เนื่องจากเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ กระบวนการทำงานของแต่ละองค์กร ตั้งแต่การผลิต, งานธุรการ, งานด้านเอกสาร, งานโลจิสติกส์ รวมถึงงานไอที"

"นอกจากนี้ ยังพบว่า แม้ 8 อาชีพเสรีอาเซียนมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการสูงมาก แต่การโยกย้ายไปยังต่างประเทศกลับไม่สูงนัก เช่น งานวิศวกร, งานด้านการแพทย์, กลุ่มงานท่องเที่ยว และงานบริการ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่ากลับเป็นกลุ่มอาชีพที่มีการโยกย้ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้อยู่ใน 8 กลุ่มงานอาเซียนคือ งานขาย, งานบริการลูกค้า, งานพัฒนาธุรกิจ, งานขนส่งและโลจิสติกส์, งานไอที และโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นสายงานม้ามืดที่มาแรงที่สุดในปีนี้"

"สุทธิดา" บอกอีกด้วยว่านอกจากปัญหาที่เกิดจากการไม่สอดรับกันของตลาดและแรงงานแล้ว ตลาดแรงงานไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้มีศักยภาพสูง (Talent Shortage) อีกด้วย

"เนื่องด้วยคุณสมบัติของคนเก่งที่มีรอบด้าน ทั้งมีความสามารถสูง, มีความเป็นผู้นำ, ความรับผิดชอบสูง, มีวิสัยทัศน์, มีความคิดสร้างสรรค์, เรียนรู้เร็ว และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ถูกดึงตัวไปได้โดยง่าย อีกทั้งการสร้างทักษะดังกล่าวให้เป็นคุณลักษณะเฉพาะของคนเก่งในยุคปัจจุบันก็เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น"

ดังนั้นในฐานะบริษัทจัดหางาน และที่ปรึกษาด้านแรงงาน "ไซมอน แมททิวส์" จึงวางกลยุทธ์ด้านการให้บริการในส่วนต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น อีกทั้งระบบเทคโนโลยีที่ต้องตอบรับกับความต้องการ และทันกระแสอยู่เสมอ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต ภายใต้กลยุทธ์ที่เรียกว่า We Will Win

"ไซมอน แมททิวส์" บอกว่าขณะนี้เรากำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยมีการวางแผนขยายการเปิดสาขาในหลาย ๆ ขนาด เพื่อตอบรับกับความต้องการในระดับภูมิภาคกระจายไปยังภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคอื่น ๆ

โดยยังคงยึดมั่นกับการสร้างจุดแข็งของแมนพาวเวอร์ คือการบริการจัดหางานแบบครบวงจร มีการแตกไลน์การบริการเพื่อเข้าถึงความต้องการของทั้งนายจ้างและแรงงาน ครอบคลุมทั้ง 5 บริการประกอบด้วย

หนึ่ง Business Solutions ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง (สัดส่วน 30% ของผลประกอบการ) ในปีนี้บริษัทจัดให้มีการทำการตลาดที่ชัดเจน เจาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตลาด AEC อย่างเป็นทางการในปีนี้ Business Solutions เป็นบริการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ ให้บริษัทในประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมา Business Solutions เริ่มที่กลุ่มธุรกิจด้านอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการหลากหลายขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจประกันภัย

สอง Experis (สัดส่วน 25% ของผลประกอบการ) โดยเน้นกลุ่มแรงงานเชี่ยวชาญพิเศษที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้น บริการนี้จึงตอบโจทย์เรื่องการคัดสรรผู้บริหารระดับสูง และระดับมืออาชีพ

สาม BTS (Borderless Talent Solutions) เป็นการจัดหางานแบบเครือข่าย ภายใต้ฐานข้อมูลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปทั่วโลก ทั้งส่งออกและนำเข้าแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมตามความต้องการ เพื่อลดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานของแต่ละประเทศ

สี่ บริการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)

ห้า บริการจัดการเอกสารในการก่อตั้งบริษัท (Work Permit) และบริการจัดการเอกสารในการก่อตั้งบริษัท

ด้วยความพร้อมทั้งหมด "ไซมอน แมททิวส์" บอกว่าผมมั่นใจที่แมนพาวเวอร์จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของการเป็นผู้นำด้านการจัดหาบุคลากร และที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรมของประเทศไทยภายในปี"61 อย่างแน่นอน

จนนำไปสู่การปลดล็อกช่องว่างระหว่างอุปสงค์ และอุปทานของตลาดแรงงานไทยอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook