"เจริญ"ตัวแปรค้าปลีกเดือดทะลุพิกัด ทุ่มไม่อั้นทุกดีล"เซ็นทรัล"เร่งดันพอร์ตรายได้ตปท.

"เจริญ"ตัวแปรค้าปลีกเดือดทะลุพิกัด ทุ่มไม่อั้นทุกดีล"เซ็นทรัล"เร่งดันพอร์ตรายได้ตปท.

"เจริญ"ตัวแปรค้าปลีกเดือดทะลุพิกัด ทุ่มไม่อั้นทุกดีล"เซ็นทรัล"เร่งดันพอร์ตรายได้ตปท.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าสัวเจริญปัจจัยเร่ง "ธุรกิจรีเทล" เดือดทะลุพิกัด ยักษ์ "ค้าปลีก" จับตาหลังหว่านเม็ดเงินไม่อั้นกว้านทุกดีล ที่เห็นโอกาส "เซ็นทรัล" จัดทัพใหญ่ทุ่ม 3.9 หมื่นล้านลงทุนรอบทิศ เพิ่มน้ำหนักยอดขายห้างในต่างประเทศปี 2020 กินส่วนแบ่ง 40% ของรายได้ห้าง พร้อมเดินเกมต่อประมูลดีล "บิ๊กซี" เวียดนาม

การเปิดเกมรุกของกลุ่มทุนยักษ์ของไทยในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนภาพได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่าแนวรบเพื่อชิงเจ้าตลาดค้าปลีกไม่ได้ขีดวง เฉพาะประเทศไทยอีกแล้ว แต่ได้ขยายอาณาเขตสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่การประมูลซื้อกิจการ "บิ๊กซี" ในเวียดนาม จะเป็นสนามประลองกำลังที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์อย่างยิ่ง และทำให้ทุกค่ายพร้อมทุ่มทุนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศได้มีการคาดการณ์มูลค่าการประมูลซื้อหุ้นบิ๊กซี เวียดนาม อยู่ที่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.88 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มทุนที่สนใจประมูล อาทิ ทีซีซี กรุ๊ป กลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป และอิออน ซึ่งการเสนอราคารอบแรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคมนี้

นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ด้วยว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ อาจให้ความสนใจ และเข้าเสนอราคาด้วย เนื่องจากมองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง จากจำนวนประชากรที่มากกว่าประเทศไทย และการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ขาใหญ่รุมชิง "บิ๊กซี" เวียดนาม

ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลเพื่อช่วงชิง "บิ๊กซี" ในเวียดนาม ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเหมาะสมต่อการเข้าไปลงทุน อีกทั้งการซื้อกิจการยังเป็นทางลัดเพื่อแจ้งเกิดในประเทศนี้อีกด้วย การเข้าไปเป็นรายแรก ๆ ตลาดอยู่ในช่วงเริ่มเติบโตยังเป็นเวลาเหมาะสมที่สุด ต่างจากในประเทศไทยที่การแข่งขันสูงมาก รายใหม่ ๆ ที่เข้ามาจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เช่นเดียวกับการซื้อบิ๊กซีของ บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ รวมกับการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ อาจต้องใช้เงินทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท

"ในประเทศไทยอาจเป็นตลาดของเซ็นทรัล และ ซี.พี. เพราะเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกมานาน แต่สำหรับเวียดนาม ต้องถือว่ากลุ่มคุณเจริญ ซึ่งมีเบอร์ลี่ยุคเกอร์ฯ เป็นหัวขบวนนำหน้าไปก่อนคนอื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าซื้อกิจการค้าส่งเมโทร ในช่วงก่อนหน้านี้มาไว้ในมือสำเร็จ"

โดยยุทธศาสตร์การลงทุนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ต้องการมีช่องทางค้าปลีกเป็นของตัวเอง จากเดิมเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าป้อนให้กับช่องทางต่าง ๆ และถูกช่องทางค้าปลีกบีบ ทำให้มีผลกำไรต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่เซ็นทรัลการขยายธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศส่วนใหญ่จับลูกค้ากลางถึงบน ทำให้อยากได้บิ๊กซี เวียดนาม ที่จับตลาดแมส

เซ็นทรัลเร่งเกมบุก ตปท.

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนใจร่วมประมูลบิ๊กซีเวียดนามซึ่งจะเปิดรอบแรก 10 มีนาคม 2559 โดยคาดว่าเม็ดเงินดีลนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามการประมูลครั้งนี้มีหลายกลุ่มทุนสนใจ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และทุนไทย

"หุ้นในบิ๊กซีเมืองไทย 25% เราก็ยังคงถือไว้ต่อไป ยังไม่มีนโยบายที่จะขาย กลุ่มคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รู้ว่าเซ็นทรัลเป็นคนร่วมก่อตั้งบิ๊กซีเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนวิกฤตเศรษฐกิจเราจึงชวนทางกลุ่มคาสิโนเข้ามาเพิ่มทุนจดทะเบียนและเป็นผู้ บริหาร ถ้าเราได้บิ๊กซีเวียดนามก็จะเข้ามาเสริมพอร์ตยอดขายในเวียดนามเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่ถ้าไม่ได้เราก็ยังคงขยายตัวในเวียดนามและตลาดซีแอลเอ็มวีต่อไป"

หัวเรือใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนของเซ็นทรัลกรุ๊ปยังคงลงทุนต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยงบฯลงทุน 39,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะเปิดศูนย์การค้าใหม่ 2 ศูนย์ คือ เซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช เปิดปลายเดือน ก.ค. 59 และโรบินสัน ลพบุรี เปิดบริการเดือน พ.ย. 59 นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 โครงการ คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช, เซ็นทรัล ภูเก็ต เฟส 2 เปิดให้บริการปลายปี"60 รวมถึงการร่วมทุนเปิดศูนย์การค้าในมาเลเซีย ควบคู่กับการเน้นปรับปรุงศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพระราม 3 เซ็นทรัลชิดลม, เซน, ภูเก็ต, บางนา และปิ่นเกล้า เป็นต้น

นอกจากนี้ จะให้น้ำหนักกับการเพิ่มรายได้ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศด้วยเป้าหมาย 40% ของรายได้จากห้างทั้งหมด โดยเฉพาะแบรนด์ห้างสรรพสินค้าในยุโรปที่วางเป้าหมาย 2,000 ล้านเหรียญยูโรภายในปี 2020 ด้วยกลยุทธ์ Central One World of Luxury ประกอบด้วย 7 ห้างสรรพสินค้า อาทิ ลา รีนาเชนเต (La Rinascente), อิลลุม (Illum), คาเดเว (KaDeWe), อัลสแตร์เฮ้าส์ (Alsterhaus), โอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) และอีก 2 ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย ได้แก่ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อเป็นอาณาจักรห้างสรรพสินค้าระดับลักเซอรี่ของกลุ่มเซ็นทรัล

ควบคู่กับการขยายสาขาร้านค้าปลีกทั้งเครือเพิ่มอีก 420 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มเซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป, กลุ่มเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ท็อปส์ เดลี่, แฟมิลี่มาร์ท, โคโมโนยะ (KOMONOYA), มัทสึโมโตะ คิโยชิ (Matsumoto Kiyoshi), ซูเปอร์สปอร์ต, ออฟฟิศเมท, บีทูเอส, เพาเวอร์บาย, ไทวัสดุ

จับตา"เจริญ"ทุ่มไม่อั้น

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า การเข้ามาถือหุ้นใหญ่บิ๊กซีของเจ้าสัวเจริญหลังบริษัทแม่ "คาสิโน กรุ๊ป" จากฝรั่งเศสขายหุ้นบิ๊กซีเมืองไทยนั้น เป็นความเคลื่อนไหวของตลาดค้าปลีกโดยทางเทสโก้ต้องติดตามข่าวสารและความ เคลื่อนไหวของธุรกิจค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้าน นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพการการเร่งขยายสาขาไซซ์เล็กมินิบิ๊กซีของบิ๊กซี จะสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้มากขึ้น และด้วยความที่บิ๊กซีเป็นดิสเคานต์สโตร์อยู่แล้ว การเชื่อมเอาราคาสินค้าในดิสเคานต์สโตร์มาขายในราคาเดียวกันในร้านสะดวกซื้อ ของตัวเอง ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น

และหากเปิดในทำเลที่ใกล้กับร้านเซเว่น ก็อาจมีผลเรื่องการแชร์ลูกค้ากันบ้าง แต่หลัก ๆ จะเป็นผลดีในแง่ที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า เพราะเซเว่นจะเน้นหนักไปที่อาหาร ในขณะที่บิ๊กซีอาจเน้นไปที่กลุ่มสินค้าอุปโภคมากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook