ผ่อนบ้านไม่ไหวแล้ว ทำยังไงดี

ผ่อนบ้านไม่ไหวแล้ว ทำยังไงดี

ผ่อนบ้านไม่ไหวแล้ว ทำยังไงดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อฝันจะมีบ้านสักหลัง... อดทน อดออม เก็บเงิน รักษาประวัติการเงินเพื่อให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อบ้านให้... แต่ถ้าหากวันหนึ่งอยู่ไป อยู่มาแล้ว ... มีเหตุฉุกเฉิน ... เงินที่มีแต่ละเดือนที่เคยผ่อนบ้านได้สบายๆ กลับต้องไปจ่ายอย่างอื่น... เช่น รักษาพยาบาลภายในครอบครัว หรือจะเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เจ้าของบริษัทขอปรับลดเงินเดือน เพื่อที่จะไม่ต้องตกงาน... แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ .... มาคำตอบกันดีกว่า

ก่อนอื่นเลยถ้าเราสำรวจตัวเอง สำรวจเงินในบ้านแล้ว รู้ตัวแน่นอนว่าผ่อนไม่ไหวแน่ๆ แต่ก็ต้องมีบ้านอยู่ เพราะฉะนั้นบ้านก็ยังต้องเป็นบ้านของเรา ถ้าส่งค่าผ่อนแต่ละเดือนไม่ไหว ธนาคารต้องมายึดบ้านแน่ๆ .... ใจเย็นๆ กันก่อน เรื่องแบบนี้เราโทรหาธนาคารได้ เพราะธนาคารจะมีทางเลือกให้เรา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าจ่ายค่าผ่อนบ้านไม่ไหวแน่นอนโทรปรึกษาธนาคารได้เลย

ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคารว่าจะมีทางเลือกอะไรให้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่มีก็จะเป็นการลดอัตราการผ่อนในแต่ละเดือนลง ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือถ้าเรามองว่าเราไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านหลังนี้แล้วอาจจะขายคืนกลับให้ธนาคารก็เป็นได้ ซึ่งแต่ละเงื่อนไขธนาคารจะเป็นคนคำนวณให้เราว่าแบบไหนเป็นยังไง ส่วนหน้าที่ของเราก็แค่เก็บข้อมูลมาแล้วก็มาเปรียบเทียบ เพื่อที่จะตัดสินใจเลือกหนทางที่ธนาคารเสนอมา

เรามาดูเงื่อนไขแรก คือ การลดอัตราการผ่อนบ้านในแต่ละเดือน ความหมายตรงตัวเลย นั่นก็คือ ธนาคารจะลดเงินที่ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนลง เช่น จากเดิมเคยจ่ายอยู่ที่เดือนละ 18,000 บาท ธนาคารก็อาจจะลดให้เหลือจ่ายเดือนละ 10,000 บาท แทนแต่ระยะเวลาในการผ่อนบ้านก็ต้องนานขึ้น จากเดิมเคยผ่อนอยู่ 15 ปี ก็อาจจะเป็น 20 ปี ซึ่งแบบนี้ประวัติการชำระเงินของเราที่ธนาคารจะส่งให้เครดิตบูโรนั้น ก็ยังคงเป็นบัญชีปกติ

ส่วนการยื่นเรื่องก็แล้วแต่นโยบายของธนาคาร เพราะบางธนาคารก็จะมีหน่วยงานส่งเรื่องให้กับลูกค้าได้เลย ถ้าอนุมัติลูกค้าก็แค่เข้าไปเซ็นสัญญาปรับการผ่อนชำระใหม่เท่านั้น ไม่ต้องยื่นเอกสารทางการเงินเพิ่มเติม และสามารถแจ้งเรื่องทางโทรศัพท์ก็ได้ แต่บางธนาคารอาจจะต้องไปติดต่อที่สาขาและยื่นเรื่องใหม่

แบบที่สอง คือ การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งแบบนี้ธนาคารจะให้เราจ่ายค่าผ่อนบ้านต่อเดือนลดลงอย่างมาก ตามตัวอย่างเดิมที่เคยจ่ายค่าผ่อนบ้านอยู่เดือนละ 18,000 บาท ธนาคารจะลดเงินที่จ่ายค่าผ่อนบ้านต่อเดือนของเราเหลือเพียงเดือนละ 3,000-4,000 บาทได้ ซึ่งถ้าเราเลือกแบบนี้จะทำให้เราเสียประวัติในเครดิตบูโร 2 ปี โดยบัญชีของเราที่เคยมีสถานะปกติจะถูกปรับเป็นปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นั่นก็หมายความว่าเราไม่สามารถไปยื่นขอกู้สินเชื่อกับธนาคารอื่นๆ ได้อีกประมาณ 3-5 ปี และที่สำคัญ คือ ดอกเบี้ยที่มีอยู่ก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน

ตามตัวอย่างเดิม เราจ่ายค่าผ่อนบ้านอยู่ 18,000 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 บาท ดอกเบี้ย 6,000 บาท แต่เมื่อเราขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหลือการผ่อนค่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ก็แบ่งไปจ่ายเงินต้น 1,000 บาท ดอกเบี้ย 2,000 บาท นั่นก็หมายความว่าเรายังเหลือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีกเดือนละ 4,000 บาท (6,000 – 2,000) ซึ่งธนาคารก็จะสะสมยอดดอกเบี้ยนี้ไว้เมื่อพอครบ 2 ปี ของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เราก็ต้องกลับไปจ่ายค่าผ่อนบ้านเดือนละ 18,000 บาทเหมือนเดิม

ซึ่งจะไปตัดดอกเบี้ยส่วนที่เรายังค้างอยู่อีกเดือนละ 4,000 บาท นั่นก็หมายความว่าเงินผ่อนบ้านเดือนละ 18,000 บาทที่จ่ายหลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วจะไปจ่ายเงินต้นแค่ 8,000 บาท และไปจ่ายดอกเบี้ย 10,000 บาท ซึ่งก็คือดอกเบี้ยปกติ 6,000 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อีก 4,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยส่วนนี้ธนาคารจะไม่ได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

และทางเลือกสุดท้ายอันนี้จะต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า เราจะไม่อยู่ที่บ้านหลังนี้แล้ว เราก็สามารถแจ้งขายคืนให้กับธนาคารได้ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะธนาคารคงจะไม่ประเมินราคาซื้อคืนให้เท่ากับราคาซื้อขายในท้องตลาด หรือราคาประเมินตอนที่จะให้สินเชื่อบ้านกับเรา ยกตัวอย่างเช่น เราผ่อนบ้านมาแล้วเหลือเงินต้นทั้งหมด 2.5 ล้านบาท ณ วันที่แจ้งขายคืนกับธนาคารและประเมินแล้วได้ 2.7 ล้านบาท เมื่อธนาคารนำออกขายแล้วได้เงินมา 2.7 ล้านบาท ธนาคารจะไม่คืนส่วนต่าง 2 แสนให้กับเรา แต่ในทางกลับกันถ้าประเมินและขายออกไปได้ 2.2 ล้านบาท เราจะต้องหารเงินสดมาจ่ายคืนให้กับธนาคารอีก 3 แสนบาท

จะเห็นว่าทุกปัญหามีทางออก เพียงแต่เราเข้าไปคุยกับธนาคารขอวิธีการแก้ปัญหามันก็ไม่ได้ยุ่งยากกว่าที่คิด เพราะเงื่อนไขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารไม่ได้บอกเรา แต่เราต้องเข้าไปถามอย่าปล่อยให้เป็นปัญหาก่อนแล้วค่อยถาม เพราะบางทีมันอาจจะช้าเกินไปก็ได้

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook